4 หุ้นอีวีวิ่ง! รับคลังไฟเขียว อุดหนุน “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า” ชงเข้าครม. พ.ย.นี้
EA-GPSC-NEX-BYD วิ่ง! รับข่าวคลังสรรพสามิตเคาะมาตรการอุดหนุรถอีวี คาดชงเข้าครม. เดือน พ.ย.65 และอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถอีวี สำหรับรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาทต่อคัน ด้านโบรกมอง EV-GPSC รับผลดีกลุ่มผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ ขณะที่ NEX-BYD รับยอดขายรถไฟฟ้าพุ่ง หลังราคาขายลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 พ.ย.65) ณ เวลา 10:30 น. ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถอีวีต่างปรับตัวขึ้นหลังจากกระแสข่าวว่าจะมีมาตรการอุดหนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถอีวีสำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องรถยนต์อีวีปรับตัวขึ้นนำโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 63.00 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 1.61% สูงสุดที่ระดับ 63.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 62.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 44.75 ล้านบาท
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 97.25 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 0.78% สูงสุดที่ระดับ 97.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 97.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 87.69 ล้านบาท
บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 19.40 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.52% สูงสุดที่ระดับ 19.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 23.81 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 14.00 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.72% สูงสุดที่ระดับ 14.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31.47 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียด แหล่งข่าวระดับสูงกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการอุดหนุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว เตรียมนำเสนอเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) อีวีชุดเล็ก โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ด EV ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเพื่อเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างนัดวันประชุมกับบอร์ดอีวีชุดเล็ก ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่ หากเห็นชอบก็จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะภายในเดือน พ.ย.65 โดยภายหลังจากที่ครม.เห็นชอบแล้วจะมีการแถลงข่าวชี้แจงในรายละเอียดต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบในขณะนี้
สำหรับสาระสำคัญเบื้องต้นได้แก่ ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถอีวีสำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาทต่อคัน
ขณะที่ รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถกระบะประเภทบีอีวีที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป เฉพาะรถกระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น ได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ประเภทบีอีวีที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท ได้รับเงินอุดหนุน 1.8 หมื่นบาทต่อคัน
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า แนวทางการอุดหนุนราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งศึกษาอยู่มี 3 ระดับ คือ 1. การอุดหนุนในระดับ Cell หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ 2. การอุดหนุนในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ และสุดท้าย และ 3.การอุดหนุนราคาในระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับการอุดหนุนราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จะคล้ายกับการอุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง ใกล้เคียงกับราคารถยนต์ระบบสันดาปภายใน หรือรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามจำนวนเงินอุดหนุนเท่าไหร่นั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ การเข้าไปอุดหนุนราคาให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้น เนื่องจากราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนคิดเป็นถึง 50% ของราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน นอกจากนี้การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นการช่วยสร้างอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นซัพพลายเชนที่สำคัญของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยต้องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศไทย อย่างไรก็ดีการออกมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ จะต้องมีการหารือกับผู้ผลิต เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย
สำหรับการพิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาขยะแบตเตอรี่ด้วย เพราะหากพิจารณาว่าเป้าหมายของรัฐบาลกำหนดว่าภายในปี 73 จะต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในสัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ หรือราว 6-7 แสนคัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการใช้แบตเตอรี่ 6-7 แสนลูก หากแบตเตอรี่เหล่านี้เสื่อมสภาพและกลายเป็นขยะ ก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องหามาตรการสนับสนุนการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
นอกจากนี้ นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) เปิดเผยว่า จากกรณีกรมสรรพสามิตสรุปแนวทางการอุดหนุนราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าหุ้นที่จะได้รับผลประโยชน์คือ EA, GPSC เนื่องจากดำเนินธุรกิจโรงผลิตแบตเตอรี่ หากมีความต้องการใช้รถ EV มากขึ้น ก็จะทำให้ยอดขายแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ยังมอง EA จะได้รับประโยชน์สูงสุดในกลุ่ม เนื่องจากมีโรงงานขนาด 1 กิกะวัตต์ และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้ง EA ยังมีโรงประกอบรถ EV และมีสถานีชาร์จ EV
ขณะที่ GPSC ก็มีการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ NOVA Battery กำลังการผลิตแบตเตอรี่ 30 เมกะวัตต์ ที่ร่วมกับ ARUN PLUS ในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตแบตเตอรี่ได้ในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นหากมาตรการด้านส่งเสริม EV ที่ชัดเจนออกมา เชื่อว่าจะทำให้มีรายได้จากธุรกิจแบตเตอรี่เข้ามาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ หากมาตรการส่งเสริม EV จากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีมติที่ชัดเจนออกมา อาทิ ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถอีวีสำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาทต่อคัน เป็นต้น จะให้การตัดสินใจในการซื้อรถ EV ง่ายขึ้น ดังนั้นมองว่าหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์ ได้แก่ EA, NEX และ BYD ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่ม EA
“หากมีมาตรการส่งเสริม EA ที่ชัดเจนออกมา คาดว่า EA จะรับประโยชน์สูงสุด ส่วน GPSC ก็ยังผลิตแบตเตอรี่ไม่มากนัก ส่วนในกลุ่มผู้ผลิต EV คาดว่าเซ็กเตอร์นี้จะเติบโตเร็วขึ้น คนตัดสินใจง่ายขึ้น ดังนั้นยังคงแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ EA ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 120 บาทต่อหุ้น ขณะที่ GPSC ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 68 บาทต่อหุ้น” นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด หรือ ASPS มองหุ้นได้ประโยชน์ต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ ได้แก่ EA, GPSC และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU
โดย EA ปัจจุบันมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่สุดในอาเซียน รองลงมา GPSC ผ่านการร่วมทุนกับ PTT โดยจัดตั้งบริษัท NUOVO PLUS (สัดส่วนถือหุ้น 49:51) ซึ่งปัจจุบัน NUOVO PLUS มีโรงผลิตแบตฯ ทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน และร่วมลงนาม MOU กับ Foxconn เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับจัดตั้งโรงงานผลิต Platform และส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาด EV ในอนาคต ผ่านการจับมือกับ Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานผลิต Platform และส่วนประกอบสำคัญสำหรับ EV ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมี BANPU NEXT (BANPU และ BPP ถือหุ้นบริษัทละ 50%) เข้าลงทุน 47% ใน Durapower ประเทศจีน มีโรงงานรองรับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ทั้งในอุตสาหกรรม EV
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) แนะเก็งกำไร EA, NEX และ BYD