พาราสาวะถี
คงไม่มีใครมองเห็นเป็นเรื่องปกติอย่างแน่นอน กับกรณีที่ ครม.เมื่อวันอังคารมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …ที่กรมสรรพสามิตเสนอ
คงไม่มีใครมองเห็นเป็นเรื่องปกติอย่างแน่นอน กับกรณีที่ ครม.เมื่อวันอังคารมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …ที่กรมสรรพสามิตเสนอ เพราะเห็นชอบกันตอนบ่าย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาในตอนค่ำ มีผลบังคับใช้ในทันทีวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล มีการอ้างว่าเป็นการศึกษามาล่วงหน้าแล้วบังเอิญมาเสนอประจวบเหมาะกันพอดี
๑๑ใครเชื่อบ้างยกมือขึ้น ทำกันแบบนี้ก็รู้เช่นเห็นชาติการอยู่ยาว ๆ มาได้กว่า 8 ปีไม่ใช่แค่ใช้กลไกที่ผ่านการวางแผนโดยขบวนการสืบทอดอำนาจเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มทุนใหญ่ให้การสนับสนุนกันอย่างแข็งขัน ไม่ต้องบอกว่าได้รับอานิสงส์จากการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 กันมากขนาดไหน ความจริงไม่ใช่แค่เรื่องเหล้า เราได้เห็นกันแล้วกับปมการควบรวมของทรู-ดีแทค เมื่อก็รู้กันอยู่ว่าใครเป็นผู้ตั้งธงที่จะต้อง “เอาให้ได้” มันจึงไม่มีทางเลือกอื่น
จึงเป็นที่มาของการตีมึนโดย กสทช.ที่อ้างว่า ไม่มีอำนาจที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการควบรวมดังกล่าว ทำได้แค่รับทราบ เหตุผลที่ทำให้คนทั้งประเทศตะลึงพรึงเพริดเป็นอย่างยิ่งก็คือ กสทช.มองว่าสองบริษัทดังกล่าว “ไม่ใช่กิจการประเภทเดียวกัน” ตรงนี้อยากจะถามดัง ๆ ใช้สมองหรืออะไรคิด โดยเฉพาะคนที่ใช้สิทธิ์ดับเบิลโหวต ประสาคนรุ่นใหม่ในโลกโซเซียล คงต้องบอกว่าสองบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไรที่เหมือนกันบ้างให้เอาปากกามาวง คงถูกทุกที่เจอทุกจุด
เหล่านี้คือภาพสะท้อนของการอุ้มสมผู้มีบุญคุณของขบวนการสืบทอดอำนาจอย่างเต็มที่ โดยที่ประเด็นของการแก้กฎกระทรวงเรื่องสุรากับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านั้น เมื่อพิจารณากันโดยเนื้อหาสาระแล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ชี้ให้เห็นว่า กฎกระทรวงที่รัฐบาลออกมาไม่ใช่การปลดล็อกธุรกิจสุราให้เป็นของประชาชน แต่เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ที่ยังมีผลในการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ให้มีการปลดล็อกการผลิตอย่างแท้จริง
สิ่งที่เป็นความแตกต่างของกฎกระทรวงที่แก้ไขกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าก็คือ ยังคงเพดานไม่ให้ผลิตเพื่อการค้า หรือผลิตมากกว่า 200 ลิตรต่อปี แต่ไม่ว่าจะผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ ก็ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต ทั้งที่ในกฎหมายสุราก้าวหน้าเพียงแค่ “จดแจ้ง” ส่วนใครที่ต้องการผลิตเพื่อการค้า ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วน ต้องมีกำลังการผลิต 5 แรงม้า คนงาน 7 คนให้ครบ 1 ปีก่อน ถึงจะขยับขยายไปผลิต 50 แรงม้าได้
โรงเบียร์ที่ทำการขาย ณ สถานที่ผลิต หรือ Brewpub ต้องมีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่ต้องการขายแบบบรรจุขวด ต้องผ่านการทำ EIA ซึ่งต้นทุนในการทำสูงมาก 3-5 ล้านบาท การผลิตสุรากลั่นชนิดพิเศษ วิสกี้ ยิน บรั่นดี ยังคงกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อปี สุรากลั่นอื่นยังคงต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อปี และต้องมีใบอนุญาตโรงงาน ดังนั้น นี่จึงเป็นความพยายามด่านสุดท้ายในการใช้อำนาจฝ่ายบริหารปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุน
ขณะเดียวกัน หากจะหาตัวเปรียบเทียบเพื่อไม่ให้มองว่าสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและ ครม.ได้ดำเนินการในเรื่องกฎกระทรวงเกี่ยวกับสุราไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ก็ชวนให้นึกถึงสิ่งที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ 25 ตุลาคมนั่นก็คือการแก้กฎกระทรวงให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่ ซึ่งมีคำอธิบายต่อมาว่าแค่รับหลักการ ต้องส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบและฟังความเห็นของทุกฝ่ายก่อน
ทั้งที่เมื่อย้อนกลับไปดูต้นตอของเหตุผลที่นำไปสู่การเคาะอนุมัติของ ครม.นั้น เรื่องเหล้าอ้างว่าศึกษากันมานานกว่า 6 เดือนแล้วถึงเสนอแก้และเห็นชอบกัน แล้วกฎกระทรวงเรื่องที่ดินที่อ้างว่าศึกษากันมานานนับปีหรือหลายปีแล้วนั้น ทำไมจึงต้องมาทบทวน ดึงจังหวะกันอีกหรือ เหตุผลเดียวก็คือ ประชาชนไม่ได้เออออห่อหมกด้วย มิหนำซ้ำ ยังไม่ได้สนใจด้วยว่ากรณีนี้จะเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอย่างไร แต่คนส่วนใหญ่พากันมองไปว่าเป็นกฎหมายขายชาติขายแผ่นดินไปโน่น
คนที่คะแนนนิยมอยู่ในช่วงขาลงอย่างหนัก ย่อมไม่บ้าที่จะดันทุรัง เผลอ ๆ เรื่องนี้อาจจะกลายเป็นแค่เรื่องที่ ครม.เคยให้ความเห็นชอบแล้วก็เก็บเข้ากรุดองเค็มไปจนหมดสมัยรัฐบาลสืบทอดอำนาจ และคงไม่มีใครที่จะไปหยิบยกขึ้นมาเดินหน้าอีก อย่าลืมเป็นอันขาดคุณสมบัติพิเศษของเผด็จการสืบทอดอำนาจคือหน้าทน อย่างหนา ไม่สนใจว่าเคยทำอะไรไว้หรือจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ได้รับความเสียหาย ไม่ได้ทำให้ตัวเองและคณะได้คะแนนเพิ่มขึ้นก็ทำเป็นลืม แกล้งไขสือกันไปก็เท่านั้น
เกมการเมืองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ทางซีกของสภาผู้แทนราษฎรก็ใช่ย่อย อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมพลพรรคภูมิใจไทยที่ไม่พอใจอย่างมากต่อท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์กับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง..ที่ถูกยื้อมาจากสมัยประชุมที่แล้ว ล่าสุด ก็มีทีท่าว่าจะถูกดึงเกมให้ลากยาวออกไปอีกเมื่อวิปรัฐบาลได้เสนอให้สภาเลื่อนร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากรพ.ศ. … ที่ ครม.เป็นผู้เสนอขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ก่อนหน้าเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
โดยที่ประชุมสภาฯ ก็เห็นชอบด้วย อันเป็นผลให้ร่างกฎหมายกัญชาฯ ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ถูกเลื่อนออกไปอีก แต่งานนี้ดูเหมือนว่าเสี่ยหนูจะไม่เดือดร้อนต่อการเล่นเกมกันในเรื่องนี้อีกต่อไป ถึงขนาดที่บอกว่า “มันป่วยการจะทำความเข้าใจกันแล้ว” เพราะยังไงฝ่ายที่ค้านซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ฝ่ายค้านเท่านั้น แต่รวมถึงพวกในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เป็นธรรมดาของการเมืองเรื่องไหนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้คะแนนนิยม อีกฝ่ายก็ต้องทำทุกทางที่จะเตะตัดขาให้ล้มหรืออย่างน้อยก็เสียอาการ เสียคะแนนกันอยู่แล้ว