ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ 1.5 พันลบ.KKP ที่ A- แนวโน้ม Stable
ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ 1.5 พันลบ.KKP ที่ A- แนวโน้ม Stable
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A-” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของธนาคารในธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และธุรกิจตลาดทุน อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแหล่งรายได้ของธนาคารที่มีการกระจายตัวมากขึ้นและเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารที่มีขนาดเล็ก รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงและคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลง ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและความซบเซาของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจำกัดการเติบโตและระดับความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะยังคงรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งระดับเงินกองทุนไว้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากความสามารถในการทำกำไรยังคงลดลงอันเป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อที่หดตัว หรือต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเสื่อมถอยลง สถานะเครดิตในทางบวกสำหรับธนาคารจะเกิดขึ้นกรณีที่ธนาคารได้ประโยชน์จากการผสานพลังร่วมในกลุ่มโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นและมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตในทางบวกยังไม่น่าเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ
KKP มีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 12 จากธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง ณ เดือนกันยายน 2558 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.6% และเงินรับฝากที่ 1.0% ตามแผนกลยุทธ์การเติบโต ธนาคารได้รวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2555 และใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (กลุ่มเกียรตินาคินภัทร) การรวมกิจการนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุนให้แก่กลุ่ม
ทั้งนี้ แหล่งรายได้ของธนาคารในปัจจุบันมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีรายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมในธุรกิจวาณิชธนกิจ และกำไรจากการค้าหลักทรัพย์เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการที่กำไรของธนาคารได้มาจากธุรกิจตลาดทุนในสัดส่วนที่มากกว่าธนาคารอื่น ดังนั้น ผลประกอบการของธนาคารจึงอาจมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนในตลาดทุนได้มากกว่าผลประกอบการของธนาคารอื่น
พอร์ตสินเชื่อของธนาคารยังคงหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มอันจำกัดของยอดจำหน่ายรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับของธนาคาร ณ เดือนกันยายน 2558 มีทั้งสิ้น 177.8 พันล้านบาท ลดลง 4% จากเดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ที่เน้นในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (ประมาณ 68% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง (21%)
นอกจากนี้ ธนาคารยังปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่มากเพียงพอต่อต้นทุนทางการเงินซึ่งอยู่ในระดับสูงด้วย ทั้งนี้ ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตทั้งจากสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว (ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมด) สินเชื่อกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อการค้าในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารได้ในกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลง
คุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารด้อยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อด้อยคุณภาพคงค้างของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 5.6 พันล้านบาท ในปี 2555 เป็น 11.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ เดือนกันยายน 2558 เท่ากับ 6.5% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในขณะที่ปริมาณสำรองที่มีต่อสำรองพึงกันของธนาคาร เท่ากับ 155% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 2.7 พันล้านบาท ลดลง 40% จากปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงจาก 1.84% ในปี 2556 เป็น 1.08% ในปี 2557 ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงเป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านเครดิต อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 โดยมีกำไรสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 จำนวน 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ธนาคารพยายามลดต้นทุนทางการเงินโดยได้ขยายฐานเงินทุนไปยังผู้ฝากเงินรายย่อย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม
เงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงและเพียงพอต่อแผนการเติบโตในอนาคต โดย ณ เดือนกันยายน 2558 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 14.53% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 14.91% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ