SUN ตั้งเป้าปี 66 รายได้โต 15% ลุยขยายกำลังผลิต รับดีมานด์พุ่ง
SUN ปักหมุดปี 66 รายได้โต 10-15% ตั้งเป้าผลิตข้าวโพด 200,000 ตัน พร้อมขยายกำลังผลิต รองรับความต้องการสินค้าพุ่ง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ-คำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
นายวีระ นพวัฒนากร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 11 พ.ย. 65 ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 32.2 ล้านบาท ลดลง 39.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 53.2 ล้านบาท และมีรายได้จากการขาย 820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 771 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการขยายตลาดต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ (กลุ่มสินค้า Canและ Frozen) ภูมิภาค Europe เริ่มเข้ามาซื้อเพิ่มในกลุ่มสินค้า Can
รวมทั้งการขายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มสินค้าพร้อมทาน (RTE) โดยเฉพาะมันหวานเผา ถั่วลายเสือ ข้าวโพดพร้อมทานและ ธัญพืชรวม นอกจากนี้ ยังมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น มันฝรั่งอบเนย กล้วยน้ำว้านึ่ง ข้าวโพดย่างเกลือ ซุปข้าวโพด ซุปฟักทอง วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งมีการทำตลาดในประเทศโดยใช้แบรนด์ KC และมีผลการตอบรับที่ดี รวมถึงได้รับรางวัลในส่วนของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ จาก The Prime Minister’s Industry Award ประเภทอุตสาหกรรมดีเด่น
ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 10พ.ย.65 อนุมัติปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 65 เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 23 พ.ย. 65 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 ธ.ค.65
นอกจากนั้นบริษัทฯ มีแผนเพิ่มไลน์ผลิตและพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานอยู่เสมอ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค หลังจากมีการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการโรคโควิด-19 และคาดว่าจะมีการเพิ่มเข้าไปในกลุ่มธุรกิจ HORECA ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีตลาดใหญ่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย
ทั้งนี้บริษัทฯ มีลูกค้าส่งออกหลัก อาทิ ประเทศ ญี่ปุ่น, อังกฤษ, เยอรมัน เป็นต้น ปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกราว 5% ทั้งนี้คาดว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้ามาสั่งสินค้า และในปี 66 จะมีการออกบูธงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ สำหรับกำลังการผลิตในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ 50% เนื่องจากปัจจัยทางฤดูกาลที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้คาดว่าในช่วงต้นปี 66 จะกลับสู่ภาวะปกติและเดินหน้าผลิตได้เต็มกำลัง รวมถึงสินค้าใหม่ๆ เข้าตลาดเพิ่มขึ้น โดยมียอดขายรอส่งมอบกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องด้วยช่วงที่ผ่านมาการผลิตค่อนข้างไม่เป็นไปตามแผน จึงทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมาการส่งมอบอยู่ที่ 820 ล้านบาท ส่วนในงวด 9 เดือนปี 65 มีรายได้จากการขาย 2,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ด้านนายพัลลภ บุญถึง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป SUN กล่าวว่า ในช่วงปี 65-66 บริษัทฯ มีแผนดำเนินงานลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีด้วยกัน 4 โครงการ ได้แก่ 1.HYDROLOCK BIG CALL จะเข้ามาเสริมการผลิตมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีไซส์เล็ก เพิ่มเป็นไซส์ใหญ่ 2.BIOMASS STEAM BOILER เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็น 15 ตัน 3.POUCH PAKING LINE เพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 80% หรือช่วยลดจำนวนแรงงาน 10 คน โดยประมาณ 4.SOLAR ROOFTOP เฟส 3 เพิ่มกำลังการผลิต 186.39 kWp โดยยอด Total การผลิตไฟฟ้าได้อยู่ที่ 952 kWp และที่ผ่านมา เฟส 1, 2 อยู่ที่ 765 kWp
สำหรับการเติบโตของธุรกิจในปี 66 ได้เริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้แล้ว และคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10-15% ซึ่งจะเห็นได้จากในส่วนของลูกค้าต่างประเทศยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางฝั่งของยุโรป ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จึงคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อสินค้าของ SUN เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งรายได้จากในประเทศในกลุ่มสินค้าพร้อมทาน เชื่อว่าปี 66 มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกัน ตั้งเป้ายอดขายไม่น้อยกว่า 100,000 ชิ้น/วัน ส่วนหนึ่งมาจากการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ และได้ร่วมพัฒนากับวิสาหกิจชุมชน SME เพื่อที่จะนำสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำตลาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ในส่วนของเหล็กและแพกเกจจิ้งเริ่มมีการปรับตัวลง น่าจะทำให้มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของวัตถุดิบมีการส่งเสริมการปลูกและประกัน ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มปี 66 ราคาอาจผันแปรในเรื่องของการผลิต อาทิเช่น ปุ๋ย, ยา หรือค่าขนส่งต่างๆ เป็นต้น
ขณะที่ในปี 66 บริษัทวางเป้าหมายผลิตข้าวโพด 200,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้า รวมถึงรอการส่งมอบ ทั้งนี้มีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดรับกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้บริษัทให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ได้จริงในไร่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้การปลูกและนำเข้าวัตถุดิบในไลน์ผลิตขาดแคลนน้อยลง