พาราสาวะถี
การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ของไทยในปีนี้ ถ้าย้อนกลับไปเปรียบเทียบสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บอกได้เลยว่า “คนละชั้น”
การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ของไทยในปีนี้ ถ้าย้อนกลับไปเปรียบเทียบสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องบอกว่ากลยุทธ์ การตลาด การประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนบอกได้เลยว่า “คนละชั้น” น่าสนใจทั้ง ๆ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ อ้างว่ามีกูรูนักการตลาดชั้นนำเป็นที่ปรึกษา มิหนำซ้ำ ยังภักดีต่อขบวนการสืบทอดอำนาจสุดขั้วหัวใจ แต่ผลงานที่ออกมาภายใต้คำแนะนำ หรืออาจจะมีส่วนสำคัญในการร่วมคิดเสียด้วยซ้ำ กลับทำได้แค่นี้
มิหนำซ้ำ ยังมีเรื่องให้ขายหน้ากับป้ายยินดีต้อนรับของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เป็นภาษาอังกฤษอีก จนถูกล้อจากเวลคัมแปลความหมายไปเป็นไทยว่า “เวรกรรม” ไปเสียฉิบ นี่ยังไม่นับรวมเรื่องการที่ผู้นำคนสำคัญของโลกอย่าง โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา กับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียไม่มาร่วมการประชุมอีก แม้จะอ้างว่ามีภารกิจส่วนตัวและปัญหาภายในประเทศ แต่โดยมารยาทถ้าผู้นำประเทศเจ้าภาพมีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับมากพอ คนเหล่านั้นย่อมให้เกียรติมาร่วมงานอย่างแน่นอน
ไม่ต้องสงสัยว่าการทำงานด้านการต่างประเทศภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ต่อเนื่องมากว่า 8 ปีนั้น ในแง่ของการสานสัมพันธ์และท่วงทำนองที่แสดงต่อนานาประเทศ เป็นไปด้วยความเป็นมิตร ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง หรือตีสองหน้าหรือไม่ สิ่งที่บรรดาผู้นำประเทศหรือกลุ่มประเทศทั้งหลายได้แสดงออกต่อรัฐบาลตั้งแต่ยุคเผด็จการ คสช. จนมากระทั่งรัฐนาวาเรือเหล็กสืบทอดอำนาจ ย่อมสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ผลพวงจากเผด็จการยึดอำนาจนั้น มันส่งผลกระทบต่อประเทศเพียงใด
เมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว ประสาอย่างหนาของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็ทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการไป ส่วนใครจะติฉินนินทา เมื่อไม่ได้แยแสต่อกระแสหรือเสียงวิจารณ์ของทั้งคนในประเทศและนานาประเทศเสียแล้ว ก็ย่อมที่จะสรุปหลังจบงานด้วยความรู้สึกของตัวเองและพวกพ้องว่า ทุกอย่างประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย ประเทศไทยได้อานิสงส์อย่างมหาศาลจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ทั้งที่ทุกอย่างมันสวนทางกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อคงไม่ได้ใส่ใจต่อประเด็นนี้ เพราะหลังจากเสร็จสิ้นเอเปคก็จะเข้าสู่โหมดการศึกว่าด้วยการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งครั้งหน้า จากเดิมทีที่เจ้าตัวประกาศว่าทุกอย่างทางการเมืองที่นักข่าวตั้งคำถามไว้ก่อนหน้านี้จะมีความชัดเจนหลังเอเปค ซึ่งก็ตีคู่กันมากับกระแสข่าวที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนนี้
สุดท้ายเมื่อใกล้ฤกษ์ดีที่ได้วางแผนกันไว้ กลับมีข่าวเล็ดลอดทีมที่ปรึกษาแตะเบรกไม่ให้ลูกพี่พาตัวเองเข้าไปเกลือกกลั้วสังฆกรรมกับพรรคการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม จนส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมกับบรรดารัฐมนตรีสายตรงและ ส.ส.ในสังกัดที่อยู่คาคอกพรรคสืบทอดอำนาจ ซึ่งตั้งใจอย่างแน่วแน่ เก็บกระเป๋ารอสัญญาณจากท่านผู้นำ ไปยื่นสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่เมื่อไหร่ คนเหล่านี้ก็จะยื่นไขก๊อกจากพรรคแกนนำรัฐบาลทันที
หลังสถานการณ์ตาลปัตรเช่นนี้ มันจึงทำให้คนเหล่านั้นต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่จะเดินหน้าย้ายพรรคตามที่ตั้งใจไว้แล้ว หรือกลับมาร่วมงานกับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เหมือนเดิม ตามข่าวจากพรรคสืบทอดอำนาจรายงานว่าบรรดา ส.ส.ที่เคยคิดจะตีตัวออกห่าง พอสัญญาณทางการเมืองจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้รีบกลับหลังหันมาซบพี่ใหญ่โดยทันที นั่นจึงเป็นที่มาของวลีเด็ดที่พี่ใหญ่ประกาศกร้าวก่อนหน้า จะแยกก็แยกไป ก่อนที่จะบอกว่ามั่นใจ ส.ส.ของพรรคไม่หนีไปไหน
การการันตีเช่นนี้เป็นเพราะเชื่อมั่นในสิ่งที่ให้คำมั่นและการให้ที่ไม่เคยเกี่ยงว่าจะเป็นเด็กของใคร ขอให้สังกัดพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คงจะมีระดับนำในพรรคอย่างน้อย 1 รายคือ สุชาติ ชมกลิ่น ที่จำเป็นต้องอัปเปหิตัวเองไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากคนของพรรคสืบทอดอำนาจโดยเฉพาะสองกลุ่มสำคัญ กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี และกลุ่มปากน้ำ ไม่ญาติดีด้วยแล้ว จึงทำให้อยู่ต่อไปได้ยาก ปัจจัยหลักที่ต้องย้ายคือลูกทีมที่วางตัวกันไว้จะให้ลงสมัคร ส.ส.ถ้าอยู่ที่เดิมต้องถูกลอยแพอย่างช่วยไม่ได้
แม้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ทว่าเป็นที่รับรู้ร่วมกันของทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง รวมทั้งประชาชนทั่วไปว่านี่คือ พรรคของลุงตู่ของจริง การที่เจ้าตัวไม่ได้มาร่วมงานกับพรรค น่าจะทำให้พลังดูดที่คาดว่าจะมหาศาลนั้นถดถอยลงไปไม่น้อย โดยเฉพาะจากพรรคสืบทอดอำนาจ แต่เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวดูเหมือนว่าภาวะการไหลออกของพรรคประชาธิปัตย์นั้นยังจะมีต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลความนิยมในพื้นที่เจาะจงไปในภาคใต้ รวมทั้ง กทม.ด้วย
ประกอบกับบรรดาอดีต ส.ส.ของคนที่เคยทำงานรับใช้พรรคมาอย่างยาวนาน ถูกปฏิเสธที่จะให้ลูกหลาน คนใกล้ชิดได้เป็นผู้สมัคร โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคอ้างว่า ผลโพลที่พรรคทำไว้คนเหล่านั้นคะแนนเสียงไม่ดี จึงต้องคัดเลือกคนใหม่ เมื่อมีปัจจัยนี้ผนวกเข้ากับการไขก๊อกของแกนนำหลายรายก่อนหน้า บวกกับคะแนนนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเทียบกับอู๊ดด้าเป็นสิ่งที่บรรดา ส.ส.และอดีต ส.ส.ของพรรคเหล่านั้นรับรู้ และทำให้ตัดสินใจทิ้งพรรคเก่าแก่ได้ไม่ยาก
สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเมื่อตัดสินใจไม่เป็นนักการเมืองเต็มตัวตามคำแนะนำของที่ปรึกษา อนาคตจึงขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้ง บนเงื่อนไขที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เป็นผู้กำหนด หากประเมินแล้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมีโอกาสที่จะได้เสียงมากพอที่จะจับมือกันต่อได้ ก็จะให้น้องเล็กเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนคู่ของพรรคร่วมกับพี่ใหญ่กับเป้าหมาย “นายกฯ คนละครึ่ง” แต่ถ้าสถานการณ์ความนิยมไหลไปเข้าทางแลนด์สไลด์ ก็ให้รอไปวัดดวงกันหลังรู้ผลเลือกตั้ง ถ้าตัวเลขของอันดับ 1-2-3 ไม่ทิ้งห่างกันมากก็สามารถพลิกเกมโดยใช้เสียง 250 ส.ว.ให้เป็นประโยชน์ หากไม่ใช่ก็ต้องตัวใครตัวมัน