น้ำมันถูกไปยาวๆ
สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คือ โอเปคจะเข้ามาผลิตในส่วนที่ขาดหายไปแทน เพื่อจะได้ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับมาอยู่ในมือตัวเองมากขึ้น เหมือนช่วงก่อนหน้าที่เชลออยล์ของสหรัฐฯจะบูมขึ้นมา
–ตามกระแสโลก–
มาถึงวันนี้เราได้เห็นกันแล้วว่า กลยุทธ์ที่โอเปคซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบียวางเอาไว้เพื่อทำลายล้างผู้ผลิตน้ำมันเจ้าอื่นกำลังแสดงผลลัพธ์ออกมาได้อย่างซื่อสัตย์ที่สุด
โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายอาลี อัล นาอิมี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันซาอุฯ ก็ออกมาพูดให้ชาวโลกได้รับฟังถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของน้ำมันดิบ
แต่ไม่ใช่เสถียรภาพของราคานะ เพราะที่ นายนาอิมี หมายถึงคือ การรักษาเสถียรภาพของอุปทานน้ำมันดิบ!!
ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการเช่นนั้น เนื่องจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคหลายเจ้าพากันทยอยปิดแท่นขุดเจาะมาเรื่อยๆตั้งแต่ราคาน้ำมันเริ่มทรุดตัวลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ซึ่งล่าสุด นายนาอิมี ประเมินว่า กำลังการผลิตจากทั่วโลกรวมกัน นั้นลดลงราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยเขาได้แสดงความกังวลว่า ตัวเลขการผลิตที่ระดับปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีเพิ่มมากขึ้นได้
ถึงแม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังคงผันผวนอยู่ แต่ตัวเลขประมาณการณ์ของทางซาอุฯกลับมองว่า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลสำหรับในแต่ละวันของช่วงตอนนี้ ไปจนถึงปี 2563
ดังนั้นแล้ว ความหมายของ นายนาอิมี นั้นเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากกำลังกระซิบบอกผู้ผลิตรายอื่นๆนอกกลุ่มอย่างเลือดเย็นว่า “พวกเรากำลังจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกนะจ๊ะ”
ทีนี้ หากย้อนกลับไปดูตัวเลขในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา โอเปคก็ผลิตเกินโควตาที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันมาโดยตลอดอยู่แล้ว
แล้วลองคิดดูว่า ต่อจากนี้ราคาน้ำมันจะเป็นยังไงต่อไป??
ไอ้ที่เราว่า…ตอนนี้ได้ใช้น้ำมันถูกแล้ว มันจะมีถูกกว่าเดิมอีก จะบอกให้
แต่อย่างไรเสีย เมื่อโอเปคเริ่มเร่งกำลังผลิตในส่วนเพิ่มเติมให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนขึ้น หุ้นในกลุ่มพลังงานบ้านเราคงได้รับผลกระทบกันบ้างไม่มากก็น้อย
ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของธุรกิจของหุ้นพลังงานในแต่ละตัวว่า ประกอบธุรกิจอะไร เป็นผู้ผลิตเอง หรือต้องเฮดจ์น้ำมันดิบมาเพื่อต่อยอดไปทำอย่างอื่น
แล้วในส่วนที่ว่า กลยุทธ์ของซาอุฯกำลังแสดงผลลัพธ์อย่างซื่อสัตย์ยังไง??
ก็ไอ้กลยุทธ์ “การรักษาไว้ซึ่งส่วนแบ่งตลาด” ที่ซาอุฯเป็นตัวตั้งตัวตีในการจูงใจให้กลุ่มตัวเองคงกำลังการผลิตเดิมไว้มาตลอดช่วง 2 ปีนี่แหละ
เพราะเมื่อราคาน้ำมันตกลงมาเรื่อยๆ ผู้ผลิตรายใหญ่เจ้าอื่นๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรือพวกทะเลเหนือ ซึ่งต่างก็มีต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่าซาอุฯอยู่หลายเท่า จึงจำต้องยอมปิดแท่นขุดเจาะบางแห่งลง
ซึ่งเท่ากับเป็นการเอื้ออำนวยให้ นายนาอิมี สามารถออกมาอ้างเรื่องจะมีอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ได้ เช่นในวันนี้
โดยสิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คือ โอเปคจะเข้ามาผลิตในส่วนที่ขาดหายไปแทน เพื่อจะได้ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับมาอยู่ในมือตัวเองมากขึ้น เหมือนช่วงก่อนหน้าที่เชลออยล์ของสหรัฐฯจะบูมขึ้นมา
แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่า เข้าตรงตามแผนทุกประตูแบบเป๊ะๆ ได้อย่างไรเล่า