MAKRO รักจริงต้องรอหน่อย.!
สุดท้ายกลุ่ม CP ในนามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ยอมเฉือนเนื้อตัดขายหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO จำนวน 160 ล้านหุ้น
สุดท้ายกลุ่มซีพี (CP) ในนามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดยอมเฉือนเนื้อตัดขายหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO จำนวน 160 ล้านหุ้น (สัดส่วน 1.51%) ราคาเฉลี่ย 37.75 บาทมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทให้กับ Credit Suisse AG, Singapore Branch ทั้งที่ราคาเพิ่มทุน 43.50 บาท นั่นเท่ากับว่าติดลบ 5.75 บาทหรือขาดทุนกว่า 920 ล้านบาท
หลังทำรายการดังกล่าวเครือซีพี (CP) จะถือหุ้น MAKRO อยู่ที่ 84.95% (จากเดิม 86.46%) โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL ถือหุ้น 34.97%, บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 24.95%, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ถือหุ้น 16.18% และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จํากัด ถือหุ้น 8.85%
นั่นทำให้ภารกิจเพิ่มฟรีโฟลตไม่ต่ำ 15% บรรลุผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว..!!
การปลดล็อกฟรีโฟลต 15% ทำให้หุ้น MAKRO กลับเข้าสู่จอเรดาร์ของนักลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะบรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Capital) ของ MAKRO สูงกว่า 400,000 ล้านบาท ทำให้ไทม์ไลน์แรกที่จะได้เห็นต้นปีหน้า คือการเข้าคำนวณดัชนี SET50 จากนั้นเป็นคิวของดัชนี MSCI และดัชนี FTSE ตามลำดับ
ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน..แม้ว่าปี 2565 ผลประกอบการเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายการปรับปรุงสาขา Lotus Go fresh ใหม่, ค่าใช้จ่ายเรื่องการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน Online รวมถึงต้นทุนทางการเงินอันเกิดจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูง เห็นได้จากตัวเลขกำไรงวด 9 เดือนที่ไม่เบ่งบานเท่าที่ควร
แต่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงช่วงปี 2566 ล่าสุด MAKRO อยู่ระหว่างแก้ไขผลกระทบโดยการควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นพิจารณาการเปิดสาขาที่คุ้มค่าหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงการลดต้นทุนทางการเงินจากการเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงินทุนด้วยการทยอยออกหุ้นกู้วงเงิน 95,000 ล้านบาทเพื่อนำไปชำระหนี้ต้นทุนสูง (รีไฟแนนซ์) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลง
“จากงบการเงินไตรมาส 3/65 MAKRO มีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 1,200% จากไตรมาส 3/64 อันเนื่องมาจากหนี้เงินกู้ยืมสูงขึ้นจากการเข้าซื้อ Lotus’s เป็นสกุลต่างประเทศอยู่ถึง 70% และส่วนใหญ่อิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (LIBOR) ขณะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น”
มีการประเมินกำไรปกติช่วงไตรมาส 4/65 มีโอกาสทำจุดสูงสุดของปีที่ระดับ 2,200-2,300 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3/65 กว่า 40% ขานรับอานิสงส์ช่วง High season การท่องเที่ยว ส่งผลให้กำไรปกติปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 7,500 ล้านบาท และกำไรปี 2566 มีโอกาสก้าวกระโดดเป็น 13,000 ล้านบาท ด้วยแรงหนุนจากการ synergy ระหว่างธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกมากขึ้น
อีกจุดที่น่าสนใจนั่นคือตัวเลขอัตราส่วนสำคัญทางการเงินของ MAKRO มีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่องนับจาก
ช่วงสิ้นไตรมาส 3/65 เริ่มจากอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) จาก 0.71 เท่ามาอยู่ที่ 1 เท่า, อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) จาก 11.60% มาอยู่ที่ 16.31% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) จาก 2.04 เท่ามาอยู่ที่ 0.85 เท่า
บ่งบอกถึงความน่าสนใจของหุ้น MAKRO ที่เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ..
นี่น่าจะเป็นการตอบโจทย์ว่า..ทำไมเครือซีพี (CP) เฉือนเนื้อตัวเอง..ยอมขาดทุนเกือบ 1,000 ล้านบาทเพื่อแก้สมการฟรีโฟลต 15% เพราะมองไปข้างหน้า..ดูแล้วมันคุ้มค่าจริง ๆ..!!??