ความโลภกับความกลัว

ความกลัวกับความโลภทำให้หุ้นขึ้นหรือลง แต่ว่าปัจจัยของบาปตั้งต้นทั้ง 7 ประการก็เป็นตัวแปรเสริมที่สำคัญในฐานะตัวสอดแทรก


วิชาปรัชญาประวัติศาสตร์ในบ้านเมือง “ประเทศกูมี” นั้นไม่ค่อยจะมีสอนในมหาวิทยาลัยเหตุผลก็เพราะว่าอย่าว่าแต่ปรัชญาประวัติศาสตร์เลย กระทั่งประวัติศาสตร์ทั่วไปก็ยังถูกนับเพราะคนเรียนได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากจบออกไปแล้วใช้หางานทำไม่ได้

ปรัชญาประวัติศาสตร์หรือ Historical method นั้นเรียนเรื่องอะไรบ้าง

คำตอบคือให้รู้ลึกไปว่า รากเหง้าของมนุษย์นั้นพูดความจริงไม่หมด ต้องมีโกหกให้เห็นหากจะอ่านแบบ “ตีความระหว่างบรรทัด” โดยอยู่ในกรอบของเวลา การเคลื่อนตัวของสถานการณ์และกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการวิภาษวิธีของตัวแปรสำคัญ ๆ ในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จารึกหลักที่ 1 ของกรุงสุโขทัยคำประโยคหนึ่งว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า ลูท่าง” ซึ่งนักโบราณคดีฉบับราชสำนักรับรองว่า เป็นการยืนยันว่ากรุงสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นมีการค้าเสรีตามแบบอาดัม สมิธเลยทีเดียว ถือเป็นปรัชญาเศรษฐกิจที่ล้ำสมัยมาก

แต่แล้วก็มีคนตีความใหม่เทียบเคียงข้อมูลทางภูมิศาสตร์เชิงลึก ที่สอดรับกันว่านี้คือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองธรรมดาเท่านั้นเองการค้าในสุโขทัยยามนั้น ยังเป็นการค้าขายในระดับต่ำและคุณภาพที่ “เกิดอาการ” น่าเป็นห่วงมากกว่า “เมื่อเทียบกับการค้าที่มีพลังรุนแรงของกรุงศรีอยุธยาทางตอนใต้จนกระทั่งกองทัพของอยุธยารุกรานเข้ามายึดครองอำนาจเหนือราชวงศ์สุโขทัย

แรงผลักดันขับเคลื่อนโลกิยะ คือ บาปพื้นฐานทั้ง 7 หรือ 7 original sins ประกอบด้วย ราคะ (lust) โลภ ความเกียจคร้าน ตะกละตะกลาม ริษยา โทสะ อหังการเย่อหยิ่ง (pride) ที่มีแกนหลักคือ โลภ โกรธ หลง ในฐานะบุตรีของพญามารเป็นปัจจัยสำคัญ

มาร์กซ ตั้งให้ทุนนิยมมีแรงขับเคลื่อนจากความโลภเป็นแกนกลาง หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มีสัมพันธ์ทางการผลิตไม่เสมอภาคกัน ทำให้เกิดสงครามชนชั้นขึ้นมา ยาวนาน

มาร์กซ จึงหันไปหาศีลจรรยาของยุคฟิวดัล แห่งยุโรปเพื่อเปิดทางให้ทุนนิยมด้วนการแลกเปลี่ยนเอาระหว่างการลดความโลภโดยมีแนวคิดของชาวมาร์กซ-เลนินจึงทำตัวเป็นเสมือนกับศาสนจักรคาทอลิกที่ขายอำนาจแทนคำว่า “โลภ”

ข้อเรียกร้องของมาร์กซ-เลนินที่ให้เสียสละความโลภเพื่อสร้างโลกที่เสมอภาคกว่า มีเสน่ห์ในช่วงแรก ต่อมากลับถูกตีโต้กลับให้ความโลภเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนโลกอีกครั้งโดยเฉพะข้อเสนอของจีนเรื่องสังคมนิยมที่มีการตลาดชี้นำ (market socialism) ที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงกว่า 20 ปีนี้ หรือ “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ซึ่งผลลัพธ์ท้ายสุดคือการเปิดช่องให้ทุนนิยมกลับคืนมาระลอกใหม่นั่นเอง

การต่อสู้ของทุนนิยมครั้งที่สองของ “ทุนนิยมกลายพันธุ์” ที่เน้นนวัตกรรมและ การผูกขาดที่มากกว่าเดิม โดยมีการคิดฝันเรื่องธรรมาภิบาลของเศรษฐีใจบุญมาชดเชยกับความหยาบกระด้างของทุนนินมในยุคเก่าช่วงเวลาสงครามเย็น

ชัยชนะของทุนนิยมใหม่นี้คือ ความพ่ายแพ้ของสังคมนิยมมาร์กซ-เลนิน และความถดถอยของทุนนิยมเถื่อนในยุคเก่า ที่กำลังขับเคลื่อนด้วยความโลภที่ถูกควบคุมด้วยศีลจรรยาใหม่นี้ เสมือนเกมลูโด้ และสะกดยุคใหม่ที่ไม่รู้ว่าใครคือทุรโยธน์ หรือยุธิษเฐียรกันแน่จนกว่าผลลัพธ์จะออกมาชัดเจน

ปรัชญาประวัติศาสตร์ที่ใช้ความโลภเป็นพลังขับเคลื่อนโดยมีตัวถ่วงคือ ความกลัว

นี้คือประวัติศาสตร์ถือเป็นธงนำ อาจจะครอบงำสังคมโลกไปอีกนานพอสมควร ตราบใดที่มาร์กซิสต์ตระกูลใหม่ยังไม่สามารถนำเสนอโมเดลทางสังคมที่มีทั้งพลังและเสน่ห์ที่ดีกว่าเดิมได้

แต่เชื่อไว้ก่อนเลยว่ายุคทุนนิยมกลายพันธุ์นี้ จะไม่ดำเนินไปจนชั่วกัลปาวสานแน่นอน เพราะสังคมมนุษย์นั้นไม่เคยสมดุลและสมมาตรยาวนานได้เกินกว่า 100 ปี

ความกลัวกับความโลภทำให้หุ้นขึ้นหรือลง แต่ว่าปัจจัยของบาปตั้งต้นทั้ง 7 ประการก็เป็นตัวแปรเสริมที่สำคัญในฐานะตัวสอดแทรกที่อาจจะซ่อนเร้นอยู่ที่ใดที่หนึ่งก็ไม่อาจจะมองข้ามไปได้

Back to top button