“พาวเวล” ส่งสัญญาณชะลอขึ้น “ดอกเบี้ย” เดือนนี้
"พาวเวล" ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนธ.ค. ขณะเตือนภารกิจสู้เงินเฟ้อยังไม่จบ
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวปาฐกถาว่าด้วยนโยบายการเงินและการคลังที่สถาบันบรู้กกิงส์ในวันพุธ (30 พ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันก็เตือนว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นยังอีกยาวไกล และยังมีคำถามสำคัญหลายอย่างที่เฟดยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงคำถามที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องถูกปรับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่เท่าใดและใช้ระยะเวลานานเท่าใด
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เราจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อเราได้ปรับขึ้นไปจนถึงระดับที่เรามั่นใจว่ามีศักยภาพมากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อให้อ่อนแรงลง สำหรับช่วงเวลาที่จะเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงการประชุมเดือนธ.ค.” นายพาวเวล กล่าว
ทั้งนี้แม้ว่านายพาวเวลไม่ได้ระบุว่า เขาคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย (terminal rate) จะอยู่ที่ระดับใด แต่เขาส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายอาจจะอยู่สูงกว่า 4.6% ซึ่งเป็นระดับที่กรรมการเฟดหลายคนได้คาดการณ์กันไว้ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเขากล่าวว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น จะสามารถทำได้ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับคุมเข้ม (restrictive level) ในระยะเวลาหนึ่ง
“เราจะยังคงดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจนกว่าภารกิจจะประสบความสำเร็จ แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินเฟ้ออาจจะชะลอตัวลงในปีหน้า แต่เรายังต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะสามารถกอบกู้เงินเฟ้อให้กลับมามีเสถียรภาพได้อีกครั้ง สำหรับผมแล้ว แม้ว่ามีการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินและเศรษฐกิจชะลอตัวลงในปีที่แล้ว แต่เรายังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนเกี่ยวกับการชะลอตัวของเงินเฟ้อ” นายพาวเวล กล่าว
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค.ปรับตัวขึ้น 7.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือนก.ย.
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า แม้ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง แต่ต้นทุนการซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ขณะที่ดัชนีวัดเงินเฟ้อในภาคบริการยังคงอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว
“แม้การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่าแนวโน้มระยะยาว แต่สำหรับการชะลอตัวของเงินเฟ้อนั้น จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ขณะนี้ภาวะคอขวดด้านการผลิตสินค้ากำลังชะลอตัวลงและเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ดูเหมือนว่าจะอ่อนตัวลงเช่นกัน แต่ภาวะเช่นนี้ควรต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายพาวเวล กล่าว