LANNA รุกแผนปี 59 ขยายท่าเรือรับขนส่งปูนเม็ด,ขายถ่านหิน-เอทานอลเพิ่ม
LANNA รุกแผนปี 59ขยายท่าเรือรับขนส่งปูนเม็ด,ขายถ่านหิน-เอทานอลเพิ่ม
นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ LANNA เปิดเผยว่า ในปี 59 บริษัทมีแผนจะลงทุนขยายท่าเรือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยงบลงทุนราว 50 ล้านบาทเพื่อขนส่งปูนเม็ด (Clinker) ที่คาดว่าจะมีการส่งออกมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าการก่อสร้างท่าเรือจะเสร็จกลางปี 59 ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือนก.ค.59 และรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า มีลูกค้าหลัก คือ SCC และ SCCC โดยคาดว่า SCC จะส่งออกปูนเม็ดกว่า 2 ล้านตันในปีหน้า จากปีนี้กว่า 1 ล้านตัน ขณะที่ SCCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ส่งออกปูนเม็ดในระดับ 7 แสนตัน/ปี และปี 59 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.2 ล้านตัน/ปี
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ปี 59 บริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณผลิตเพื่อจำหน่ายถ่านหินที่ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่คาดว่าจะทำได้เพียง 5 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดระดับ 6 ล้านตัน เนื่องจากการผลิตจากเหมืองถ่านหินของบริษัททำได้ต่ำกว่าเป้า โดยการผลิตจากเหมือง LHI ทำได้ 3 ล้านตัน จากเป้า 3.5 ล้านตัน และ SGP ผลิตได้ 2 ล้านตัน จากเป้า 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ถ่านหินที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่เน้นการเพิ่มปริมาณการผลิต
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไตรมาส 4/58 คาดว่าราคาถ่านหินน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว จากต้นปีที่ลดลงต่อเนื่อง และมองจากนี้ไปอีก 4-5 เดือนข้างหน้า ราคาถ่านหินน่าจะทรงตัวโดยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้น เพราะการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินในตลาดโลกมีความล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินจากโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นยังไม่มีเข้ามา จากปกติจะเริ่มเจรจาในช่วงเดือนธ.ค.ของทุกปีและจบดีลในเดือนเม.ย.ของปีถัดไป ทำให้คาดว่าราคาถ่านหินน่าจะยังทรงตัวบริเวณ 55-60 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้า โดยปริมาณการผลิตและขายอยู่ที่ 105 ล้านลิตร ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้แล้ว 77 ล้านลิตร และคาดว่าราคาขายเฉลี่ยทั้งปีไม่น่าจะต่ำกว่า 25 บาท/กิโลกรัม จากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ราคาเฉลี่ยที่ 25.20 บาท/กิโลกรัม
ส่วนในปีหน้า ตั้งเป้าการผลิตและขายเอทานอลเพิ่มเป็น 115 ล้านลิตร หรือมีการใช้กำลังการผลิตราว 95-96% โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐบาลได้ผล ขณะที่ต้นทุนโมลาสในเดือนธ.ค.นี้ถูกลงกว่าเดิม โดยฤดูกาลใหม่ราคาเปิดที่ 4,200 บาท/ตัน จากฤดูก่อนหน้าอยู่ที่ 4,500 บาท/ตัน ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลถูกลงเกือบ 1 บาท/ลิตร แต่จะถูกกดดันจากราคาขายที่ถูกลง 1 บาท/ลิตรเช่นกัน
LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP ขณะเดียวกันยังถือหุ้น 51% ในบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) ซึ่งทำธุรกิจเอทานอลด้วย
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทยังได้เตรียมเงิน 50-60 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรองรับการซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะซื้อได้สูงสุด 2 เหมือง ซึ่งมองการซื้อเหมืองที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทันที รวมถึงยังจะร่วมทุนกับบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมกันทำโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียและไทย โดยรอทางการอินโดนีเซียเปิดก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล ซึ่งเบื้องต้นพิจารณาโครงการขนาดเล็กต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์
LANNA ตั้งงบ 50 ลบ.ปีหน้าขยายท่าเรือที่อยุธยา รับส่งออกปูนเม็ด คาดเปิดบริการขนส่งปูนเม็ดให้ SCC-SCCC ใน H2/59ขณะเดียวกันเตรียมเงิน 50-60 ล้านเหรียญ ซื้อเหมืองถ่านหินมากสุด 2 แห่งในอินโดฯตั้งเป้าผลิต-ขายถ่านหินปี 59 ที่ 5.5 ล้านตันจากปีนี้ทำได้ต่ำเป้ามาที่ 5 ล้านตันขณะเดียวกันตั้งเป้าผลิต-ขายเอทานอลปี 59 ที่ 115 ล้านลิตรจาก 105 ล้านลิตรปีนี้