บราซิล กลับเป็น บราซิล

นอกจากการพลิกล็อกชนิดช็อกโลกเกือบทุกวันแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่ต้องบอกล่วงหน้าไว้เลยว่างานนี้จงใจสร้างขึ้นมาให้บราซิลได้เป็นแชมเปี้ยนโลก


ฟุตบอลโลกที่กาตาร์เป็นอะไรที่ต้องพูดถึง แม้จะไม่ใช่แฟนบอลชนิดเข้าไส้ก็ตาม

นอกจากการพลิกล็อกชนิดช็อกโลก (ล่าสุดสเปนตกรอบเพราะยิงลูกโทษพ่ายโมร็อกโก) เกือบทุกวันแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่ต้องบอกล่วงหน้าไว้เลยว่างานนี้จงใจสร้างขึ้นมาให้บราซิลได้เป็นแชมเปี้ยนโลกแบบเดียวกันกับการแข่งขันในปี ค.ศ.1970 หรือเมื่อ 52 ปีก่อน

ทำไมจึงบังอาจกล้าพูดเช่นนั้น? มีเหตุผลของมันเองครับ

ดูตัวอย่างลูกที่สองของบราซิลที่เอาชนะเกาหลีใต้เป็นต้นแบบสำคัญเลย

ลูกนั้น ริชาริซอน ดาวซัลโว ประจำทีมชุดนี้  แสดงให้เห็นความเหนือชั้นสไตล์บราซิลแท้ออกมาด้วยการที่เขาเดาะบอลด้วยหัวแบบเล่นตะกร้อ 3 ครั้ง แล้วโยนต่อให้อีกคนเคาะบอลส่งกลับคืนมาที่ตัวเขาเอง ก่อนยิงเข้าประตูไปชนิดเกาหลีใต้และ คนดูทั่วโลกตะลึงในสไตล์บราซิลแท้ ๆ

จากนั้นพวกกองหน้ารวมทั้งเนย์มาร์จูเนียร์ที่เล่นบทบาทตัวฉีกทำลายกองหลังฝ่ายตรงข้าม (แบบเดียวกันกับที่เปเล่เคยกระทำมาในปี 1970) แล้วก็พากันไปสนุกด้วยการพากันออกไปเต้นแซมบ้าเพื่อโชว์กัน คราวนี้ผู้จัดการทีมที่ชื่อเรียกว่า ตีเต้ ก็ออกไปเต้นร่วมวงด้วย

บรรยากาศเช่นนี้คือทีมบราซิลที่เล่นฟุตบอลโดยมนุษย์ซึ่งเราไม่ได้เห็นมายาวนานแล้ว

มันเป็นปรัชญาเบื้องหลังทีมฟุตบอลที่สำคัญยิ่งยวดครับ ซึ่งปรัชญานี้ห่างหายไปยาวนานไม่เคยได้เห็นทีมอย่างนี้ หลังจากพัฒนาการของฟุตบอลได้คลี่คลายจากปรัชญาดั้งเดิมของบราซิลยุคเก่าไปสู่ฟุตบอลที่มีระบบนำเสนอโดยยุโรป (นับแต่ยุคของ โตตัลฟุตบอลของเนเธอร์แลนด์ ระบบทีมของเยอรมนี เคาน์เตอร์แอทแทคของอิตาลี และทิกิ-ตาก้า ของสเปน) ที่ผู้จัดการทีมมีบทบาทเหนือนักเตะซึ่งเป็นมนุษย์ที่ต้องเล่นตามบทที่ถูกกำหนดเอาไว้ตายตัว

ความสำเร็จของบราซิลในการนำกลับเอาปรัชญาฟุตบอลที่เล่นโดยมนุษย์ที่ผู้จัดการทีมตีเต้ นำกลับมาใช้ใหม่คราวนี้คือการเลือกนักเตะที่สามารถ เล่นกับระบบแบบยุโรปได้ แล้วอนุญาตให้แต่ละคนใช้ความสามารถอันโดดเด่นของตนเองออกมาใช้ได้ตามสมควร ทำให้เราได้มี “บุญตา” ที่ได้ยลลูกจักรยานอากาศของริชาริซอนในนัดแรกกับเซอร์เบีย และลูกล่าสุดในนัดตัดเชือกกับเกาหลีใต้

นอกเหนือจากลูกโทษของเนย์มาร์จูเนียร์ที่ยิงใส่ประตูเกาหลีใต้ที่พยายามเล่นเกมวัดใจหรือ mind game ผิดที่ผิดเวลาแล้ว เราก็เชื่อว่าเวลาที่ปรัชญาฟุตบอลที่เล่นโดยมนุษย์  ซึ่งทีมบราซิลแสดงนั้นจะต้องยังมีอีกให้สานต่อเป็นตำนานยาวนานเพื่อให้คนกล่าวขานกัน แข่งขันกับปรัชญาตรงกันข้ามคือ บอลระบบที่ไม่พึ่งดาราที่จะมีพัฒนาการควบคู่กันต่อไป

ทีมฟุตบอลที่พึ่งดารานั้น มักจะมีทีมธรรมดาที่นักเตะโดดเด่นบางคนเช่นทีมเนเธอร์แลนด์ยุค โยฮัน ครอยฟ์ ทีมอาร์เจนตินายุคแรกที่มีมาราโดน่า และยุคปัจจุบันที่มีเมสซี่ อาจจะไม่ใช่มีปรัชญาแบบบราซิลที่โดดเด่นทั้งทีมเหมือนกับทีมของตีเต้

การประสานระบบ แล้วยกให้มนุษย์มีฐานะชี้นำเหนือกว่า จะทำไม่ได้เลย หากขาดจิตวิญญาณและปรัชญาที่ผู้จัดการทีมเข้าใจตรงกัน ทีมชาติบราซิลนั้น เคยโดดเด่นกับปรัชญานี้เมื่อครั้งเปเล่ยังอยู่ในทีม แต่เมื่อหมดยุคของเปเล่ ทีมนี้ก็ถูกผู้จัดการทีมพยายามลองผิดลองถูกกับการพยายามเล่นบอลระบบตามยุโรปจนกระทั่งนักเตะอย่างพี่เหยินใหญ่ โรนัลโด้ และ เหยินเล็กโรนัลดินโญ่กลายเป็นตัวประกอบที่เปล่งประกายแสนสั้นของบอลระบบที่ถูกผูกขาดอำนาจโดยผู้จัดการทีมอย่างโยฮัน ครอยฟ์ อาริโก้ ซัคคี เป็บ กวาดิโอล่า เจอร์เก้น คลอปป์ และโซเซ่ มูรินโญ่

ถ้าหากการกลับมาของปรัชญาที่นำโดยบราซิลว่าด้วย ฟุตบอลที่เล่นโดยมนุษย์ ชนะการแข่งขันในปีนี้ โอกาสที่ชาติด้อยพัฒนาทางวัตถุกายภาพ แต่เข้มข้นในด้านการผลิตนักเตะ อย่างไนจีเรีย กาน่า เซเนกัล จะสามารถยกระดับในการแข่งขันระดับนานาชาติได้จะเดินหน้าต่อไปได้อีกยาวไกล และเปิดทางให้กับการพัฒนาบอลระบบแบบคู่ขนานกันในอนาคตได้อีก พร้อมกับอิทธิพล และอำนาจต่อรองของฟีฟ่าเหนือกีฬาฟุตบอลต่อไปได้อีก

หากเกมรุกของฟีฟ่าในการส่งเสริมกีฬาฟุตบอลให้ได้รับความนิยม โดยยอมรับให้ฟุตบอลที่เล่นโดยมนุษย์กลับมาสู่ความนิยมครั้งใหม่ผ่านชัยชนะของทีมบราซิล จึงเข้าข่าย การรุกด้วยการสร้างสถานการณ์ แทนที่การรับด้วยการเล่นตามสถานการณ์ เหตุผลที่กล่าวมาจึงทำให้ปีนี้ บราซิลถูกผลักดันให้ชนะบอลโลกที่กาตาร์ครับ

ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ แสดงว่า บราซิล ก็ยังไม่เป็นบราซิล หรือว่าฟีฟ่าเสียงแตกกันเองภายใน

แล้วบอลโลกจะกลับไปน่าเบื่ออีกยาวนานเลยล่ะ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ฟีฟ่าต้องการแน่นอน

Back to top button