WTI ปิดลบ 6 วันติด หวั่นเศรษฐกิจถดถอยฉุดดีมานด์

น้ำมัน WTI ปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 นักลงทุนวิตกภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ในวันศุกร์ (9 ธ.ค.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกมากขึ้นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากจีน, ยุโรป และสหรัฐ

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 44 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 71.02 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดครั้งใหม่ของปีนี้ และร่วงลง 11.2% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 5 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 76.10 ดอลลาร์/บาร์เรล และร่วงลง 11.1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงในสัปดาห์นี้ราว 11% ซึ่งเป็นการร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบกว่า 8 เดือน โดยราคาน้ำมันปรับตัวผันผวนในวันศุกร์ โดยได้แรงหนุนในช่วงเช้าหลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจปรับลดการผลิตลงเพื่อตอบโต้ต่อการกำหนดเพดานราคาส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซีย

สำหรับการปิดท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนหลังจากมีข่าวการรั่วไหลเมื่อวันพุธ (7 ธ.ค.) ได้ช่วยหนุนตลาดน้ำมันในการซื้อขายช่วงเช้าด้วย แต่ราคาน้ำมันปรับตัวลงในเวลาต่อมา จากความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในจีน

ทั้งนี้ การเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนพ.ย. และข่าวการเริ่มดำเนินการท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนบางส่วนนั้นได้ถ่วงราคาน้ำมันลงในเวลาต่อมา

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี PPI เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนพ.ย. ซึ่งทำให้ตลาดวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง

ด้านนักวิเคราะห์ทางเทคนิคของไอแคปเตือนว่า หากราคาน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจจะไหลลงต่อแตะระดับสุดในช่วงระดับ 60-69 ดอลลาร์ในไม่กี่วันข้างหน้านี้

นอกจากนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในจีน อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แม้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการควบคุมโรคโควิด-19 ในจีนก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2% ในสัปดาห์หน้า แม้เชื่อกันว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วก็ตาม

Back to top button