“กสทช.” ลุยทวงเงินคืน! “พิรงรอง” ชี้ กกท.ละเมิด MOU เกิดความเสียหายเยียวยาไม่ได้
“กสทช.” ลุยทวงเงินคืน 600 ล้าน ลิขสิทธิ์บอลโลก "พิรงรอง" ชี้ กกท.ละเมิด MOU เกิดความเสียหายไม่สามารถเยียวยาได้ และไม่สามารถลบล้างเจตนาที่ละเมิดได้
นางพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงประเด็นเรื่องการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกของ กสทช. กับการกีฬาประเทศไทย (กกท.) ว่า ในฐานะของกสทช. ที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ และเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้อนุมัติการสนับสนุนเงิน 600 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาตั้งแต่ต้น มี 2 ประเด็นที่คิดว่าน่าจะต้องสร้างความกระจ่างคือ
1.ในประเด็นที่กสทช.มีมติให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ กกท. ปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน MOU และหากไม่ดำเนินการโดยทันที กสทช.จะดำเนินการแจ้งยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) และให้กกท. คืนเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือนั้น
เหตุที่ กสทช. ต้องดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากเงิน 600 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐที่กองทุน กทปส.จะต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่แรก ความเห็นส่วนตัวเราเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจ่ายเงินจากกองทุนอย่างชัดเจน จึงมีความเห็นเป็นเสียงข้างน้อยที่จะไม่ให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ดี กสทช.เป็นการทำงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม มติจึงต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก และเมื่อได้สนับสนุนออกไปแล้วปรากฎว่าการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ MOU จึงมีการออกมติตามมาดังข้างต้น
ในความเห็นส่วนตัว มองว่า ณ จุดนี้ ความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตาม MOU ได้บังเกิดแล้ว การจะยกประโยชน์ให้ฝ่ายที่ละเมิด MOU กับ กสทช.ด้วยการไปยกเลิก MOU อีกอันที่ให้ exclusive right กับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการถ่ายทอดบอลโลกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆที่เป็นผลพวงตามมาย่อมไม่เป็นการเยียวยาความเสียหายใดๆ และไม่สามารถลบล้างเจตนาที่จะละเมิด MOU กับ กสทช.ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ไปลงนามใน MOU กับผู้ประกอบการรายใหญ่
2.ในการรับเงินสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) 600 ล้านบาท กกท. มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช. ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และ กกท.ก็รับทราบก่อนการทำ MOU และการลงนามใน MOU ที่รับการสนับสนุนแล้วว่า กสทช. มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับกฎ must have / must carry
ส่วนหนึ่งเพราะ กกท.เคยมีประสบการณ์บริหารสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิคที่ ครม. ได้อนุมัติหลักการให้ กกท. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนการกีฬา (50%) ให้มาขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส (50%)
ซึ่งในครั้งนั้น กกท. ก็ได้รับการสนับสนุนไปเช่นเดียวกับครั้งนี้ (แต่ครั้งนี้ไม่มีมติครม.)และทราบเงื่อนไขสำคัญนี้ ของ กสทช. เป็นอย่างดี ซึ่ง กกท. ก็สามารถทำตามกฎทั้ง 2 ได้โดยเรียบร้อยทุกแพลตฟอร์มออกอากาศได้หมด (ยกเว้น OTT ที่ กสทช.ไม่มีขอบเขตอำนาจกำกับดูแล)
ดังนั้น การที่ กสทช. ให้การสนับสนุนไปโดยเสียงข้างมากก็เข้าใจว่า กกท.จะสามารถดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การไปทำข้อตกลงหรือสัญญาใดๆตามมาที่ขัดแย้งกับ MOU ที่ได้ทำมาก่อนหน้า แม้จะอ้างข้อจำกัดใดๆหรือความเห็นใดๆที่ไม่ได้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมไม่มีประเด็นให้หักล้างความไม่ชอบธรรมทางกฎหมายได้