“นอร์เวย์” ยัดข้อหา PTT-OR หนุนพม่าทารุณประชาชน สั่ง “เพนชั่น ฟันด์” แบนลงทุนทั้งคู่

“แบงก์ชาตินอร์เวย์” สั่งกองทุนบำเหน็จบำนาญหยุดลงทุนหุ้น PTT พ่วง OR กล่าวหารุนแรงหนุน “มี่นอองไลง์” ทารุณกรรมชาวพม่า สุดงง! “เชฟรอน” ถือหุ้นใหญ่แหล่งยาดานาเฉย แม้รัฐบาลมะกันเป็นแกนหลักคว่ำบาตรเมียนมาร์ ฟาก “สผ.” ยันลงทุนในพม่าก่อนปฏิวัติ มุ่งสร้างความมั่นคงพลังงานไทย ไม่เกี่ยวข้องขบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน


ผู้สื่อข่าวรายงานสืบเนื่องจากการรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยกองทัพพม่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น และท้ายสุดมีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่พลเอกอาวุโสมี่นอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐประหารในเวลานั้น

กลุ่มชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรต่างออกมาประณามพร้อมทั้งคัดค้านการทำรัฐประหารดังกล่าว จนสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องและออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากหยุดการลงทุน ตลอดจนการดำเนินกิจการทั้งหมดในเมียนมา เพื่อไม่เป็นการสนับสนุนการรัฐประหารที่อาจเข้าข่ายมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวเมียนมาอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า “กลุ่มปตท.” ได้รับหนังสือจากรัฐบาลของหลายประเทศที่ร่วมประณามเหตุการณ์รุนแรง โดยเรียกร้องให้หยุดการดำเนินกิจการทั้งหมดในเมียนมา เนื่องจากบริษัทในเครือของปตท.หลายแห่งได้เข้าไปลงทุนไว้เป็นจำนวนมาก และในหลากหลายประเภทกิจการ ซึ่งกลุ่มปตท.ได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านการรับรองของกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปหลายครั้ง

โดยยืนยันว่ากลุ่มบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการทำรัฐประหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด หากแต่การลงทุนทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 สภาจริยธรรมแห่งกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์ หรือ Council on Ethics of Norwegian Goverment Pension Fund Global (GPFG) เสนอแนะให้กองทุนฯ หยุดการลงทุนในหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองทุน GPFG โดยธนาคารแห่งประเทศนอร์เวย์ (Norge Bank) ได้ดำเนินการคัดหุ้นของทั้งสองบริษัทออกจากพอร์ตโฟลิโอการลงทุนแล้ว

ทั้งนี้ สภาจริยธรรมฯ ระบุถึงเหตุผลต่อข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่กิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ของกลุ่มปตท.นำมาซึ่งความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ จากการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเมียนมาในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง ตลอดจนการสนับสนุนเหตุการณ์สงครามและข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTT ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับ “เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส” หรือ MOGE ในโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งประเทศเมียนมา จำนวน 3 แหล่ง ขณะที่ OR ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทย่อย ได้เข้าร่วมทุนกับ “เมียนมาร์ อิโคโนมิค คอร์ปอเรชั่น” หรือ MEC ที่มีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ สำหรับการก่อสร้างและดำเนินกิจการให้บริการการจัดเก็บสินค้ากลุ่มน้ำมัน หรือ Oil Terminal และธุรกิจการอัดเติมก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Filling Facility

ข้อเสนอแนะจากสภาจริยธรรมฯ ระบุเชิงสรุปว่า กิจกรรมทางธุรกิจของ PTT และ OR มีส่วนช่วยสร้างกระแสรายได้ให้กับกองกำลังติดอาวุธของกองทัพพม่า ที่จะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมด้านการทหารเพื่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับ MOGE และ MEC เป็นการสะท้อนถึงความเสี่ยงที่กองทุน GPFG ไม่อาจยอมรับได้จากการสนับสนุนการทารุณกรรมอย่างรุนแรงต่อประชาชนเมียนมาในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากการตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นของ 1 ใน 3 โครงการของ PTTEP ที่ถูกกล่าวอ้างถึงคือ “โครงการยาดานา” นั้น พบว่า Unocal Myanmar Offshore Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ “เชฟรอน” บริษัทสัญชาติอเมริกัน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 41.1016% รองลงมาคือ PTTEPI ในกลุ่มปตท. ที่สัดส่วน 37.0842% และสุดท้ายคือ MOGR ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 21.8142%

จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง “เชฟรอน” ถึงรอดพ้นจากการถูกประณามและถูกลงโทษด้านการลงทุน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดและมีการรับโอนหุ้นเพิ่มเติมจาก “โททาล” บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ที่ถอนการลงทุนไปก่อนหน้านี้เช่นกัน ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นแกนหลักสำคัญในการต่อต้านและประณามรัฐบาลกองทัพพม่าของ “มี่นอองไลง์”

ด้านปตท.สผ. หรือ PTTEP เคยเปิดเผยกับทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ ในประเด็นที่มีความเกี่ยวโยงกันว่า การลงทุนในประเทศเมียนมาถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การตัดสินใจเข้าดำเนินการโครงการนี้ จะสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว รวมถึงความต่อเนื่องในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์การดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในทุกขั้นตอน

ปัจจุบันโครงการยาดานามีปริมาณขายเฉลี่ยที่ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็น 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย และ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชนเมียนมา

ดังนั้น จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าปตท.สผ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการละเมิดสิทธิฯ อย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ปตท.สผ.ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานของคนไทย บริษัทยังคำนึงถึงสวัสดิภาพและความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวเมียนมาที่ต้องมีไฟฟ้าใช้อยู่ตลอดด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ย. 2565 พบว่า กองทุน GPFG ถือครองหุ้น PTT ผ่าน NVDR จำนวน 41.55 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.15% เท่านั้น โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการถือหุ้นในชื่อบัญชีอื่นด้วยหรือไม่ ขณะที่เบื้องต้นยังตรวจสอบไม่พบว่ามีการถือครองหุ้น OR ทั้งบนกระดานหลักและกระดาน NVDR

Back to top button