SAT โบรกเชียร์ซื้อเป้า 24.50 บ. รับแผนขยายธุรกิจรถ EV วางเป้าสัดส่วนรายได้ 10% ใน 3 ปี

SAT โบรกเชียร์ซื้อเป้า 24.50 บ. รับแผนขยายธุรกิจรถ EV วางเป้ารายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% ภายใน 3 ปีข้างหน้า


บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (20 ธ.ค.65) ว่า บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT แนะนำซื้อเป้า 24.50 บาท โดยจากการอัพเดทกับทางบริษัทมีมุมมอง เป็นบวกต่อแผนขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (สามล้อไฟฟ้า, E Bus) โดยจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2565 และตั้งเป้าจะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% ภายใน 3 ปีข้างหน้า

โดย 1.ธุรกิจสามล้อไฟฟ้า E Tuk ได้มีการร่วมมือกับ ETuk Factory (ETF ผู้ผลิตสามล้อไฟฟ้าจากเนเธอร์แลนด์) เพื่อเจาะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในไทยและต่างประเทศ โดยจะเริ่มผลิตและส่งมอบได้ในปี 2566 ไม่ต่ำกว่า 100 คัน และจะมีกำลังการผลิตในปี 2567 ที่ 1 พันคัน(ราคาเฉลี่ยคันละ 3-.45 แสนบาท) จะเน้นส่งออก 75% ในประเทศ 25%, 2) EBus อยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจ คาดว่ามีความชัดเจนด้านกำลังการผลิตและจะเริ่มส่งมอบรถ E Bus ได้ในปี 2566

โดยคงประมาณการกำไรปกติปี 2565 ที่ 933 ล้านบาท ลดลง 2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 9 เดือนแรก 2565 คิดเป็น 77% จากทั้งปี สำหรับไตรมาส 4/2565 จะดีขึ้น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานต่ำปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างกิจการ แต่จะลดลงเทียบไตรมาสก่อนหน้าตามปัจจัยฤดูกาลที่มีวันหยุดยาว

ส่วนปี 2566 ยังประเมินกำไรปกติที่ 1.04 พันล้านบาท โต 11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดผลิตรถยนต์ที่จะยังเติบโตได้ราว 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มอีก 200-300 ล้านบาท ขณะที่ GPM จะดีขึ้นจากสต็อกวัตถุดิบเหล็กนำเข้าที่ลดลง รวมถึงการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น

โดยราคาหุ้น outperform SET 6% และ 14% ในช่วง 3 และ 6 เดือน จากยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ยังคงแนะนำ“ซื้อ” จากกำไรไตรมาส 4/2565 และปี 2566 ที่จะกลับมาปรับตัวดีขึ้น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้ต่อเนื่อง และแผนขยายสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมี key catalysts จาก จากยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัว และจะได้ผลบวกจากต้นทุนเหล็กที่ลดลง

นอกจากนั้น ระยะยาวยังมีโอกาส upside จากการขยายธุรกิจสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (E Tuk, E Bus) ชดเชยรถสันดาปภายในที่มีโอกาสเติบโตช้าลง ขณะที่ระยะสั้นการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นยังกระทบ SAT จำกัด เนื่องจาก SAT ผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถกระบะเป็นหลัก ซึ่งค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีการทำตลาดดังกล่าว แต่หากในอนาคตค่ายรถยนต์ไฟฟ้ามีการผลิตในไทย SAT ยังมีโอกาสพัฒนาชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้เช่นกัน

Back to top button