“บล.บัวหลวง” มองปีหน้า SET แตะ 1,820 จุด รับเศรษฐกิจฟื้น พร้อมคัด 10 หุ้นท็อปพิก

“บล.บัวหลวง” มองปีหน้า SET แตะ 1,820 จุด รับเศรษฐกิจฟื้น แนะลงทุน 10 หุ้นท็อปพิก พร้อมกับจัดพอร์ตลงทุน แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นไทย, จีน และสหรัฐฯ มากขึ้น


นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2565 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ส่งผลดัชนีปรับตัวลดลง 1% ถือว่าเสมอตัวเมื่อรวมเงินปันผลที่คาดจะให้ผลตอบแทนระดับ 2% แต่หากเปรียบเทียบตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นยุโรป, จีน และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกจะพบว่า หุ้นไทยให้ผลตอบแทนดีที่สุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในรอบ 30 ปี

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมัน และทองคำ โดยในช่วงไตรมาส 1/2565 ผลตอบแทนจากน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 60% จากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีลดลงเหลือเพียง 1.77% หลังราคาน้ำมันอ่อนตัวลง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนทองคำนับตั้งแต่ต้นปีพบว่าตัวเลขติดลบเล็กน้อยที่ 1.31% แต่ถือว่าดีกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565ที่ให้ผลตอบแทนติดลบถึง 10% ส่วนอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ก็ขาดทุนเช่นกัน เนื่องจากราคาของตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลดลงสะท้อนดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นเร็ว

สำหรับสินทรัพย์ที่มีความโดดเด่นในปี 2565 คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นจากการที่เฟดขยับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง ส่งผลให้ผลตอบแทนค่าเงินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ระดับ 4.13%

ส่วนค่าเงินบาทอ่อนถึง 14.3% ในระหว่างปีที่ผ่านมาก่อนที่เดือนต.ค.- พ.ย.ที่ผ่านมาค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ทำให้อัตราผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่า 4.13% อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ลงทุนที่ถือกองทุน BMSCITH  ซึ่งเป็นกองทุน ETF สะท้อนดัชนี MSCI THAILAND ที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ก็น่าจะยิ้มกันได้ เพราะนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ 3.68% ดีกว่าดัชนี SET โดยรวม

 “ปีนี้เป็นปีที่ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทผันผวนผลตอบแทนไม่ค่อยดี ปัจจัยหลักมาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงทั้งจากราคาอาหาร, ค่าขนส่ง และราคาน้ำมัน นับจากกลางปีเป็นต้นมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกประเภทต่างปรับตัวลดลง หลังการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ และธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงการฉีดวัคซีนของประชากรทั่วโลกทำได้ถึง 2 ใน 3 ทำให้ระบบขนส่งสินค้าที่ขาดแคลนคลี่คลาย จำนวนกองเรือเพิ่มขึ้น และการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือทำได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายชัยพร กล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2566 คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าปี 2565 เนื่องจากในปีนี้ มีการจัดระเบียบเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทำให้หลายอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะอยู่ในจุดใกล้เคียงกับจุดสูงสุดแล้ว ล่าสุดการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25 – 4.5%

อย่างไรก็ตามในปี 2566 คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาส 1/2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 4.75% และธนาคารกลางสหรัฐอาจมีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในปลายปีหากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจมีการถดถอยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์

“คาดการณ์เป้าหมายดัชนี SET Index ปี 2566 ที่ 1,820 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ 109 บาทต่อหุ้น โดยเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ต่างชาติคาดว่าจะยังไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น ค่าเงินบาทยังคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง สะท้อนผ่านภาพในปัจจุบันที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้เพียง 20% เทียบยอดขายสุทธิในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาที่เงินไหลออกไปมาก” นายชัยพร กล่าว

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4% จากปี 2565 ที่โต 3.2% หนุนโดยภาคการบริโภคและท่องเที่ยวที่ยังคงดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะเห็นการชะลอตัวลงบ้างของภาคการส่งออกแต่ก็เป็นการกลับสู่ภาวะปกติของการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ด้วย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้การเติบโตของ GDP คาดจะขยายตัว 1% และอาจมีความเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย ยังคงมอง Downside ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 0.5% แต่เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ของสหรัฐจะไม่ปรับตัวลงลึกมากจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากตลาดหุ้นรับรู้ประเด็นนี้ไปตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาแล้ว สะท้อนผ่านดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปีลดลงไปลึกสุด 25% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเชิงสถิติ

ด้านดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ต้นปีร่วงลงไปต่ำสุด 31% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 35% ในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย Recession ค่า P/E ดัชนี S&P500 ก็อยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยประมาณ 16-17 เท่า สำหรับตัวเลขอัตราขยายตัว GDP ของยุโรปคาดติดลบ 0.5% หลังความตึงเครียดระหว่างยุโรปและยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน

“หนึ่งปัจจัยท้าทายในปี 2566 คือ ต้องจับตาดูเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะกลับมาสร้างปัญหาอีกหรือไม่ หากจีนมีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัวจนดันเงินเฟ้อขึ้นสูงอีกครั้ง ทั้งนี้คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในปีหน้าจะเติบโต 5-5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สะท้อนการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มตัว” นายชัยพร กล่าว

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2566 แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นไทย, จีน และสหรัฐฯ มากขึ้น

โดยแนะนำลงทุน 10 หุ้นท็อปพิก ได้แก่ AMATA, AOT, BBL, BEM, BJC, COM7, GPSC, GULF, TISCO, WHA เน้นลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค, กลุ่มมีเดีย, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม Green Energy ที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดขายปัจจุบันที่ 15,250 คัน นับจากต้นปีที่ผ่านมา

อีกทั้งกลุ่มสถาบันการเงินก็ยังน่าสนใจจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีค่า P/E ค่อนข้างต่ำ ส่วนกลุ่มที่ควรเลี่ยงลงทุน คือ น้ำมัน, ปิโตรเคมี, โรงกลั่น, กองเรือ และโรงพยาบาล

Back to top button