น้ำมันดิบปิดพุ่งรับข่าวเครื่องบินรัสเซียถูกยิงตก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (24 พ.ย.) หลังจากมีรายงานว่าเครื่องบินรบของรัสเซียถูกยิงตกในบริเวณชายแดนซีเรีย เนื่องจากการรุกล้ำน่านฟ้า ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 1.12 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิด (24 พ.ย.) ที่ 42.87 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 46.12 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเนื่องจากสถานการณ์สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากเครื่องบินขับไล่ Su-24 ของรัสเซียถูกตุรกียิงตกลงใกล้ชายแดนซีเรียเมื่อวานนี้ เนื่องจากรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าของตุรกี ขณะที่ทางการซีเรียมองว่า การที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตก ถือเป็นการก่ออาชญากรรม

ด้านองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ประกาศจัดการประชุมฉุกเฉินเมื่อวานนี้ หลังเกิดเหตุตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกในชายแดนซีเรีย โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยเอกอัคราชทูตจากสหรัฐ และประเทศสมาชิกนาโต้อีก 27 ประเทศ

ประธานาธิบดีตุรกีเปิดเผยว่า เครื่องบินที่ถูกยิงตกใกล้ชายแดนประเทศซีเรียนั้นเป็นเครื่องบินรัสเซียที่รุกล้ำน่านฟ้าของตุรกี ในขณะที่รัสเซียยืนยันว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้รุกล้ำน่านฟ้าแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กองทัพตุรกีแถลงว่า เครื่องบิน Su-24 ได้รับการเตือนถึง 10 ครั้งภายในเวลา 5 นาทีว่าได้ล่วงล้ำน่านฟ้าของตุรกี ก่อนที่เครื่องบินไอพ่น F-16 ของตุรกีจะเข้าสกัด

ขณะที่นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันนี้เวลา 22.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. จะเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล และคาดว่าสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กลุ่มโอเปกจะคงโควต้าการผลิตน้ำมันไว้เท่าเดิมที่ 30 ล้านบาร์เรล/วันในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ กลุ่มโอเปก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้ในสัดส่วน 40% ของผลผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกนั้น ได้คงโควต้าการผลิตเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวมาเป็นเวลานาน แม้ว่าประเทศสมาชิกรายอื่นๆ รวมถึงอัลจีเรียและเวเนซูเอลา ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับลดการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้นก็ตาม

Back to top button