EA-GPSC อ้าแขนรับ “คลัง” คิกออฟหนุนโรงแบต Q1
คลังปิดจ๊อบ 23 ม.ค.นี้ ชงวาระอุดหนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ตามกำลังผลิตเข้าบอร์ด EV พร้อมปรับโครงสร้างภาษีแบตฯ ใหม่ทั้งระบบ คาดประกาศใช้ Q1/66 ด้าน EA กำลังผลิตพร้อมมากสุด ส่วน GPSC และ NEX เล็งขยายกำลังผลิต
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มกราคม 2566 กรมสรรพสามิตจะเสนอมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี
โดยเบื้องต้นกรมสรรพสามิตคาดว่าจะใช้เงินสนับสนุนประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากระยะแรกยังมีผู้ผลิตไม่มากราย กรมสรรพสามิตคาดว่าจะอุดหนุนแบตเตอรี่ 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ในอัตรา 200 บาท กรณีแบตเตอรี่ 1 ลูก สำหรับรถยนต์อยู่ที่ 60 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง อัตราเงินอุดหนุนจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาท ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ได้ในอัตรา 1 กิกะวัตต์ และขายได้ทั้งหมดก็จะได้รับเงินสนับสนุนกว่า 200 ล้านบาท
สำหรับต้นทุนการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 1 กิกะวัตต์ จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้กรมสรรพสามิตยังจะเสนอหลักการการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่ตามโครงสร้างใหม่เข้าบอร์ดอีวีด้วย โดยภาษีแบตเตอรี่ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะครอบคลุมทั้งรถยนต์ทั่วไปที่ใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า เป็นต้น
โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าคาดปรับลดภาษีลงมากสุด จากปัจจุบัน 8% เหลือ 1% เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายหลังราคาแบตเตอรี่ถูกลง
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ส่วนภาษีสิ่งแวดล้อมนั้น กรมสรรพสามิตได้จัดเตรียมอัตราภาษีไว้เรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเป็นกฎหมายซึ่งอาจจะไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในวันที่ 23 มกราคมนี้ จะมีการพิจารณาวาระสำคัญ ได้แก่ แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ หลังจากการประชุมบอร์ด EV ครั้งก่อน ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตนำไปพิจารณามาตรการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาในการประชุมในครั้งนี้
โดยมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย จะมีเงินสนับสนุนตามปริมาณการผลิต ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหารือกับกรมสรรพสามิตบ้างแล้ว เบื้องต้นทราบมาว่ากรมสรรพสามิตได้หารือกับทุกค่ายรถยนต์ โดยค่ายรถยนต์ดังกล่าวจะมีโรงงานแบตเตอรี่ที่รับจ้างผลิต หรือ OEM ดังนั้นหากมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้มีความชัดเจน คาดว่าจะได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งรวมถึงบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่มีโรงงานแบตเตอรี่แล้ว ก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ มาตรการที่มีการเสนอ ประกอบด้วย การอุดหนุนในระดับเซลล์ หรือการอุดหนุนตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจนถึงการผลิตสำเร็จ, การอุดหนุนในระดับ Module ซึ่งแบตเตอรี่รถยนต์จะมีหลาย Module สามารถเปลี่ยนเฉพาะ Module ที่เสื่อมสภาพได้ และการอุดหนุนราคาในระดับ Pack หรือแบตเตอรี่ทั้งลูกที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บอร์ด EV เห็นชอบมาตรการส่งเสริมโรงงานแบตเตอรี่ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา จากนั้นคาดว่าครม.จะมอบหมายกรมสรรพสามิตดำเนินการเรื่องงบประมาณต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้มาตรการดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้
“การประชุมบอร์ด EV ยังมีวาระค้างอยู่หนึ่งวาระ คือ มาตรการส่งเสริมการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในไทย โดยจะเป็นเงินสนับสนุนตามปริมาณการผลิต โดยโฟกัสทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เชื่อว่าหากมาตรการดังกล่าวมีความชัดเจนและประกาศใช้ จะสร้างความน่าสนใจในการลงทุนอย่างแน่นอน” แหล่งข่าว กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการส่งเสริมการใช้ EV ของภาครัฐ โดยเหลือเพียงการสรุปมาตรการสนับสนุนด้านเงินลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคมนี้ ส่งผลบวกต่อหุ้น EA, GPSC และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เนื่องจากเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของไทย รวมทั้งมีแผนขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมด้านแบตเตอรี่สำหรับรถ EV จากทางภาครัฐ ซึ่งมองว่าส่วนลดแบตฯ จะทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแบตฯ ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีด้านราคาแบตฯ สำหรับรถ EV ซึ่งจะช่วยให้รถ EV ราคาถูกลงมาใกล้เคียงหรือสูงกว่ารถยนต์น้ำมันเล็กน้อยได้ ทำให้เกิดความน่าสนใจ ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถ EV มากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลดีกับ EA ด้วย เนื่องจากเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ทั้งโรงงานแบตเตอรี่ รถ EV และสถานีชาร์จ ปัจจุบัน EA มีโรงงานแบตเตอรี่กำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ และอยู่ระหว่างขยายเพิ่มเป็น 4 กิกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA น่าจะได้ประโยชน์มากสุดจากมาตรการอุดหนุนโรงงานแบตเตอรี่ในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีความพร้อมด้านกำลังการผลิตอยู่แล้ว ขณะที่คู่แข่งขันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นการผลิต