“รฟม.” จับมือ “กองทัพเรือ” สร้างทางขึ้น-ลง “สถานีสำเหร่” สายสีม่วง เชื่อมรพ.พระปิ่นฯ
รฟม. เซ็นเอ็มโอยู กองทัพเรือ สร้างทางขึ้น - ลงที่ 3 สถานีสำเหร่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและผู้ใช้บริการของทางโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ พลเรือโท ชลธร สุวรรณกิตติ เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุที่ใช้ในราชการกองทัพเรือ บริเวณพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อก่อสร้างทางขึ้น – ลงที่ 3 สถานีสำเหร่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและผู้ใช้บริการของทางโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐอย่างเต็มศักยภาพ
นายภคพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟม.ได้ประสานความร่วมมือกับกองทัพเรืออย่างต่อเนื่องในการออกแบบรายละเอียดและการใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ รฟม. จะทำการก่อสร้างทางเดินลอดใต้ดินเพื่อเชื่อมต่อจากชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารของสถานีสำเหร่ไปยังด้านหน้าอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) โรงพยาบาล ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับที่จอดรถใต้ดินอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและผู้ใช้บริการของทางโรงพยาบาล โดย รฟม.จะทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่ก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ
สำหรับสถานีสำเหร่ เป็นสถานีใต้ดินสถานีสุดท้ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีรูปแบบสถานีเป็นแบบชานชาลากลาง (Central Platform) ประกอบด้วยชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา โดยมีทางขึ้น – ลง จำนวนทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง โดย รฟม. จะสร้างทางขึ้น-ลงที่ 3 สถานีสำเหร่สำเร็จลุล่วงได้โดยเร็ว โดยไม่กระทบต่อภารกิจ หน้าที่ และการให้บริการของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมถึงไม่กระทบต่อการดำเนินงานด้านการก่อสร้าง และการบริหารจัดการการเดินรถของ รฟม. ในอนาคต
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)
อีกทั้งยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อีกด้วย โดยเริ่มดำเนินงานก่อสร้างใน มิ.ย. 2565 และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570