“ไทย-ญี่ปุ่น” ลงนาม 4 ฉบับ ขยายร่วมมือพัฒนา “เทคโนโลยีพลังงาน”
“ไทย-ญี่ปุ่น” ร่วมลงนาม เพื่อขยายความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้งในด้านปิโตรเลียม ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 หรือ the 5th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มกราคม 2566 โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมฯ ร่วมกับนาย KOBAYASHI Izuru, Deputy Commissioner for International Affairs กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานร่วม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการประชุมดังกล่าว มีขึ้นเพื่อขยายความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้งในด้านปิโตรเลียม ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน และเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ อาทิ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน หรือ CCUS เป็นต้น
ทั้งในรูปแบบความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในโครงการด้านพลังงานของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภาคพลังงานของทั้งสองประเทศให้มีความมั่นคง และผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นสามารถบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานของทั้งสองประเทศร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ ประธานร่วมของฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น ได้ร่วมเป็นสักขีพยานให้กับการลงนามในความตกลงความร่วมมือในโครงการด้านพลังงานของภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น จำนวน 4 ฉบับ มีบริษัทที่เข้าร่วมฯ ลงนาม ได้แก่ EGCO, JERA Asia Pte. Ltd, JERA Co, Inc, BLCP, Banpu Power, Mitsubishi Heavy Industry, Ltd, Mitsubishi Cooperation, Chiyoda Cooperation, SCG Cement, Nippon Steel Engineering Co.,Ltd, Thai Nippon Steel Engineering and Construction Cooperation
โดยเป็นความร่วมมือในด้านการศึกษา และการลงทุนร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานของการใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย รวมถึงการพัฒนากระบวนการในภาคอุตสาหกรรมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรในภาคการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด