ส่องหุ้นไทย..ผ่านแว่นขยายเครดิตสวิส

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก เผยแพร่รายงานวิจัยสำหรับกลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย


ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก เผยแพร่รายงานวิจัยสำหรับกลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย โดยปรับเปลี่ยนมุมมองเล็กน้อย จากระดับ Overweight (เพิ่มน้ำหนักการลงทุน) เนื่องจากการประเมินมูลค่าหุ้นเชิงเปรียบเทียบหุ้นไทย มีความน่าดึงดูดหรือเสน่ห์ลดลง

แม้การประเมินมูลค่าตลาดหุ้นไทย โดยรวมอาจไม่น่าดึงดูดต่อนักลงทุนมากนัก แต่เชื่อว่า “หุ้นไทยมีมูลค่าซ่อนอยู่” โดยเฉพาะหุ้นธนาคารพาณิชย์และหุ้นภาคการบริโภค ที่ขึ้นชื่อในฐานะตัวแทนมูลค่าที่น่าสนใจ สำหรับการฟื้นตัวที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ  เครดิต สวิส มีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าในหุ้นภาคการท่องเที่ยว และหุ้นบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าหุ้นที่ไม่ถูกนัก แต่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี

ส่วนการลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) จะอยู่ในกลุ่มวัฏจักร และการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก อาทิ กลุ่มพลังงาน โดยเครดิต สวิส ตั้งเป้าหมายดัชนี SET Index สิ้นปี 2566 ที่ระดับ 1,870 จุด หรือเพิ่มขึ้น 12% เทียบกับปลายปี 2565 ที่ผ่านมา แต่คาดการณ์กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก 8% สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเข้าลงทุน

ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มการส่งออก แต่เศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยกับตัวเลขผลกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นยังคงดำเนินต่อเนื่องไป การท่องเที่ยว มีทิศทางการเติบโตขึ้นมากเป็นพิเศษกว่าระดับปกติ โดยการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย ยังอยู่เพียงแค่ระดับครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ระดับปกติแล้ว

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว จะช่วยหนุนความต้องการภายในประเทศ  คือการบริโภคและการลงทุนฟื้นกลับคืนสภาพเดิมในช่วงที่ต้องเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และควรที่จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้จำกัด

ขณะที่หลายฝ่ายต่างออกมาปรับลดประมาณการผลประกอบการ แต่ไม่ใช่สำหรับทั้งภูมิภาคโดยรวมทั้งหมด สำหรับเศรษฐกิจไทย จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดำเนินต่อไป

โดยมองแนวโน้มขาขึ้นของค่าเงินบาท เป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ในการตัดสินใจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทย และยังคงมุมมองเชิงบวก ถึงแม้ว่าสกุลเงินบาท จะปรับตัวแข็งค่าอย่างโดดเด่นช่วงครึ่งหลังปี 2565  แต่สกุลเงินบาท ยังเป็นสกุลเงินที่ปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุดในตลาดเอเชีย ที่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia ex-Japan) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 และมีช่องว่างอีกมากในการปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับประเทศไทย จะโดดเด่นในภูมิภาค ด้านของดุลบัญชีเดินสะพัด ที่จะเกินดุลอย่างมีนัยสำคัญช่วงปี 2565 จนถึงปี 2567 และหากราคาน้ำมันอ่อนตัวลงมากขึ้น ประเทศไทย จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย เมื่อเทียบสัดส่วนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ในสภาวะแวดล้อมที่ผลตอบแทนจากการลงทุนตกต่ำทั่วโลก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของสกุลเงิน จะถือเป็นดีลการลงทุนที่ยอดเยี่ยมให้กับผลการดำเนินงานของตลาดโดยรวม สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ

แต่ปัจจัยการเมือง เป็นความเสี่ยงหลักต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยปี 2566 โดยการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงน่าจะเพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นช่วงปลายไตรมาส 1/66 และช่วงไตรมาส 2/66 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้คาดการณ์ว่าผลกระทบจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป

อดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงช่วง 3 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง ช่วงการเลือกตั้ง 5 ครั้งในอดีต และปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วง 3 เดือน ถัดไปหลังการเลือกตั้ง ในช่วงการเลือกตั้ง 4 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา โดย “นโยบายประชานิยม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และระดับรายอุตสาหกรรมระยะกลาง”

จุดที่น่าสนใจคือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะปรับขึ้นมาไม่น้อยแล้วเช่นกัน..!!

Back to top button