‘เบียร์ควาย’ ขวิด ‘สิงห์-เสือ-ช้าง’

หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้ตลาดน้ำอำพัน..อย่าง “ตลาดเบียร์” ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 260,000 ล้านบาท เริ่มกลับสู่ความคึกคักอีกครั้ง


หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้ตลาดน้ำอำพัน..อย่าง “ตลาดเบียร์” ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 260,000 ล้านบาท เริ่มกลับสู่ความคึกคักอีกครั้ง แน่นอนว่าผู้เล่นรายหลัก ๆ..หนีไม่พ้นกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ (กลุ่มเบียร์ช้าง) และกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ (เบียร์สิงห์และเบียร์ลีโอ)

ข้อมูลจาก Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก พบว่า ส่วนแบ่งการตลาดสำหรับผู้ผลิตเบียร์ของไทยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 57.9% ตามด้วยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วน 34.3% และบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด มีสัดส่วน 4.7%

ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดตามแบรนด์สินค้า  พบว่า “เบียร์ลีโอ” มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ “เบียร์ช้าง” สัดส่วน 31.2% ตามด้วย “เบียร์สิงห์” สัดส่วน 11.2%, เบียร์ไฮเนเก้น สัดส่วน 3.8% และ “เบียร์อาชา” สัดส่วน 2.4%

แต่ล่าสุด “คาราบาวกรุ๊ป” สร้างแรงกระเพื่อมตลาดเบียร์เมืองไทย ครั้งใหญ่รอบหลายทศวรรษเลยทีเดียว ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดตัวเบียร์น้องใหม่เข้าสู่ตลาดน้ำอำพัน ว่ากันว่ามีกำหนดวางจำหน่ายทั่วประเทศ ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

โดย “เสถียร เสถียรธรรมะ” (ชื่อเดิมเสถียร เศรษฐสิทธิ์) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกระหว่าง 2 ชื่อที่มีอยู่ในใจ..นั่นคือ “เบียร์เยอรมันตะวันแดง” และ “เบียร์คาราบาว” และจะได้ข้อสรุปอีกไม่นานนับจากนี้..!?

แต่ด้วยจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง” ที่มีจุดเด่นเรื่องเบียร์สดกว่า 10 ชนิด ก็เป็นไปได้สูงว่าแบรนด์เบียร์จากกลุ่มคาราบาวกรุ๊ปครั้งนี้..น่าจะเป็นชื่อ “เบียร์เยอรมันตะวันแดง”

“เบียร์น้องใหม่” ที่ว่านี้..จะมาพร้อมตัวแพ็กเกจจิ้งทั้งรูปแบบกระป๋อง และรูปแบบขวด เป็นเบียร์ที่มีพื้นฐานมาจากเบียร์เยอรมัน ที่มีการส่งตรงบริวมาสเตอร์ จากประเทศเยอรมนี เข้ามาช่วยด้านการผลิต โดยช่วงแรกจะเปิดตัว 2-3 รสชาติ แต่เจาะตลาดครบทุกเซกเมนต์ การผลิตจะเกิดขึ้นจากโรงงานที่จังหวัดชัยนาท โดยเป็นการเปิดไลน์ผลิตใหม่ ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ด้วยกำลังผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี

ช่วงแรกจะเริ่มผลิตประมาณ 200 ล้านลิตร เพื่อนำร่องตลาดก่อน การผลิตจะอาศัยโนฮาวโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงและวางจำหน่ายทั่วประเทศช่วงไตรมาส 4/66 ผ่านช่องทางร้านค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ  รวมถึงช่องทางจำหน่ายในกลุ่ม อย่าง “ซีเจ มอลล์” และ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป “ราคาขาย” ที่ชัดเจน เหตุต้องดูทิศทางตลาด และเซกเมนต์ที่จะเข้าไปทำตลาดอีกครั้ง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาราบาวกรุ๊ป มีการแตกไลน์ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มเหล้าขาว, วิสกี้, โซจู มาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาดมากนัก..!?

สำหรับผู้บุกเบิก “ตลาดเบียร์ของไทย” เริ่มจากกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) มีการเปิดตัว “เบียร์สิงห์” (เบียร์สิงห์ขาว) ครั้งแรก เมื่อปี 2479 (หรือเกือบ 90 ปีที่แล้ว) และวางขายครั้งแรก “ราคาขวดละ 32 สตางค์” มีโลโก้เป็น “สิงห์” (สัตว์ชนิดหนึ่งในตำนานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและความเชื่อโบราณของไทย)

จากนั้นเกือบ 60 ปีถัดมา กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ แจ้งเกิด “เบียร์ช้าง” และวางขายครั้งแรกช่วงปี 2538 ด้วยกลยุทธ์ที่ใช้สู้กับเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ ด้วยการเสนอราคาที่ถูกกว่าค่อนข้างมากและใช้ระบบขายพ่วง (จนกลายเป็นตำนาน “ขายเหล้าพ่วงเบียร์”) สามารถแย่งลูกค้าและยึดครองส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

จนทำให้แบรนด์ “เบียร์สิงห์” สั่นคลอนอย่างมาก..!!

เป็นเหตุให้กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ออกมาแก้เกมด้วยการเปิดตัว “เบียร์ลีโอ” ออกสู่ตลาดช่วงปี 2541 เพื่อโต้กลับเบียร์ช้าง ด้วยกลยุทธ์กำหนดราคาที่ถูกกว่าเบียร์สิงห์และใกล้เคียงกับาเบียร์ช้างมากขึ้น

นั่นจึงทำให้บุญรอดบริวเวอรี่..ต่อกรและรับมือการตลาดกับกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ..จนรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเบียร์มาจนถึงปัจจุบัน..

จึงน่าสนใจว่าเมื่อกลุ่มคาราบาวปล่อย “เบียร์ควาย” ออกสู่ตลาด..แล้ว “สิงห์-เสือ-ช้าง” จะมีแผนรับน้องหรือรับมือกันอย่างไร..ครับพี่น้อง..!!??

Back to top button