กสทช.แจงศาลฯประมูล “ดาวเทียม” ถูกต้อง-รักษาประโยชน์ชาติ
กสทช.แจงศาลปกครอง ประมูล "ดาวเทียม" ถูกต้อง-รักษาประโยชน์ชาติ เร่งหาแนวทางรักษาสิทธิ วงโคจร 2 ชุด ที่ไม่มีผู้ประมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยอ้างว่า กสทช. ออกประกาศไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 และ 60 รวมทั้ง ขอให้เพิกถอนผลของการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ประมูลเมื่อ 15 มกราคม 2566
โดยอ้างว่าเอกชนได้รับผลประโยชน์และรัฐได้รับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย ตลอดจน ขอให้นำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เอกชน ซึ่งหลังจากที่ศาลปกครองกลางได้ให้คู่กรณีทุกฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้มีคำสั่งยกคำร้องในการขอคุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566
ในการนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งความพยายามในการแก้ไขปัญหา หลังจากที่ กสทช. ชุดที่ผ่านมา ได้ยกเลิกการประมูลเมื่อ 18 สิงหาคม 2564 เนื่องจากมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพียงรายเดียว จึงได้ปรับปรุงประกาศให้เปิดกว้าง โปร่งใสและเป็นธรรม โดยคงหลักการกำหนดราคาขั้นต่ำเช่นเดิม เพื่อให้มีผู้ร่วมแข่งขันให้มากที่สุด ซึ่งหากการทำธุรกิจดังกล่าวได้รับผลตอบแทนอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ทำไมทั้ง 6 บริษัทที่มีสิทธิร่วมแข่งขันจึงเข้าร่วมประมูลเพียง 3 บริษัท ในการนี้ผู้ประกอบการต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังเช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ได้มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการลงทุนของแต่ละชุดก่อนการประมูล พบว่าการร่วมประมูลในชุดที่ 4 มีความเหมาะสมต่อองค์กรมากที่สุด
นอกจากนี้ธุรกิจดาวเทียมปัจจุบันไม่ใช่ธุรกิจที่ผูกขาดภายใต้ระบบสัมปทานเหมือนในอดีต ประเทศไทยต้องแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ที่ต่างชาติต้องการมาทำธุรกิจในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่ง กสทช.คงต้องพิจารณาในบางกรณีเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด โดยที่ต้นทุนดาวเทียมต่างชาติในหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอกชนได้ใช้สิทธิดังกล่าว เพื่อมาทำตลาดต่างประเทศและนำรายได้เข้าประเทศตนเอง เช่น ประเทศจีนหรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แต่ในขณะที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการนอกจากมีต้นทุนจากการประมูลแล้ว ในแต่ละปีต้องส่งให้รัฐ โดยคิดจากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าอนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ร้อยละ 0.25 ค่าธรรมเนียม USO ร้อยละ 2.5 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่เกินร้อยละ 1.5 และค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นวิทยุคมนาคมขึ้นกับปริมาณการใช้คลื่นความถี่ ดังนั้นประเทศไทยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เช่นกัน
ที่สำคัญสิ่งที่ สำนักงาน กสทช. ต้องเร่งพิจารณา คือ สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมชุดที่เหลือจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่ประเทศไทยได้รับแบบมีเงื่อนไข โดยที่ประเทศอื่นสามารถเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้ หากประเทศไทยไม่มีการใช้งานจริง ซึ่งต่างจาก คลื่นความถี่ ที่แม้ว่าจะไม่มีการใช้งานจริง ดังเช่น คลื่นความถี่ ย่าน 1800 MHz ที่ กสทช.เคยประมูลแล้ว แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าว ยังคงเป็นสมบัติของชาติ ที่ประเทศอื่นไม่สามารถมาใช้งานหรือเรียกร้องสิทธิได้ ดังนั้นในประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหาแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป
อนึ่งผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 มีรายชื่อผู้ชนะแบ่งเป็น ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5 อี(องศาตะวันออก) และวงโคจร 51อี เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ยุโรป ไม่มีผู้สนใจเคาะประมูล
ชุดที่ 2 ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5อี มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด(บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)) ราคา 380,017,850 บาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5อี และวงโคจร 120 อี ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ผู้ชนะประมูลคือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคา 417,408,600 บาท
ชุดที่ 4 วงโคจร 126อี ผู้ชนะประมูลคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ราคาประมูล 9,076,200 บาท และชุดที่ 5 วงโคจร 142อี ไม่มีผู้สนใจเคาะประมูล