4 หุ้นรับเต็ม “บอร์ดอีวี” เคาะแพ็กเกจ 2.4 หมื่นล้าน อุ้มแบตเตอรี่

“บล.ดาโอ” มีมุมมองต่อหุ้น EA-GPSC-WHA-NEX เป็นผลบวกจากการรับอานิสงส์บอร์ดอีวีไฟเขียวเคาะแพ็กเกจสนับสนุนวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% จากเดิม 8% หวังหนุนตั้งโรงผลิต “แบตเตอรี่”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติของบอร์ดอีวี ในวันที่ (2 ก.พ.66) เพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศไทยและทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลง จะทำให้อีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสมบูรณ์แบบมากขึ้น

สำหรับวาระการประชุมนำโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า บอร์ดอีวีได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 ลดเหลือร้อยละ 1 รวมทั้ง มาตรการที่สำคัญคือ การให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh โดยเนื่องจาก วงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย

นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply เหล่านี้ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้

ขณะนี้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ รวมทั้งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และยังมีผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีน และค่ายยุโรป เป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)หรือ EA, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GPSC,บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ WHA, บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)หรือ NEX เนื่องจากมองว่ามาตรการสนับสนุนการลงทุนแบตอีวีของกรมสรรพสามิตที่มีการลดภาษีเหลือ 1% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 8% รวมถึงการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยจะทำให้ราคาแบตเตอรี่และรถอีวีลดลงได้ เป็นการสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ EA เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ขนาดกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง คาดจะได้ประโยชน์จากมตราการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% และเงินสนับสนุนจากมาตรการเดิมที่ 200 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงจะเป็น upside ต่อรายได้ของ EA ที่ราว 550 ล้านบาทต่อการผลิตแบตเตอรี่ 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นราว 6% ต่อประมาณการปี 2566 ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายเป็น 2 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ภายในปี 2566 และขยายสู่ 4 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2567 ดังนั้นให้คำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 90.00 บาท

ขณะที่ GPSC มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ปัจจุบันที่ 30 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยมีแผนที่ขยายกำลังการผลิตเป็น 1 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ภายในปี 2566 ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 85.00 บาท

ส่วน WHA มองว่าจะเป็น sentiment เชิงบวกต่อการเข้ามาก่อตั้งโรงงานผลิตรถอีวี ถ้าหากต้นทุนการผลิตและราคาแบตเตอรี่ในประเทศไทยลดลง ส่งผลบวกต่อยอด presale และโอนย้ายปี 2566 ที่จะเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าคาด ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ากลุ่ม EV และซัพพลายเชนจำนวน 800-900 ไร่ ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในครึ่งแรกของปี 2566 ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2566 อยู่ที่ 4.60 บาท

นอกจากนั้น ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อ NEX จากมาตรการสนับสนุนให้ราคาแบตเตอรี่ลดลง จะส่งผลบวกให้แนวโน้มราคาขายรถ E-Bus และ E-Truck ลดลงด้วย ทำให้โอกาสในการขายน่าสนใจมากขึ้น ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.00 บาท อิงค่า PEG 1 เท่า เทียบเท่าปี 2566 PER ที่ 33 เท่า และคาดว่ากำไรโตเฉลี่ยปี 2566-2568 เติบโต 33%

ด้าน นายสุวัฒน์ สินสาฎก ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นกลุ่มพลังงาน กล่าวว่า ต้นทุนของการผลิตแบตเตอรี่ของ EV ภายหลังจากการได้รับการอุดหนุนจะใกล้เคียงกับ Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกรณีนี้ส่งนัยสำคัญต่อการแข่งขันในตลาดโลกของอีเอ

ทั้งนี้ ประเมินว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจ EV ของบริษัทต่อปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท ถึง 1 พันล้านบาท จากต้นทุนแบตที่ลดลง ซึ่งกำลังผลิตแบตฯ 4 GWh ไม่น่าจะเพียงพอในอนาคต เนื่องจากบริษัทนำไปใช้เองก็ประมาณ 2-3 GWh แล้ว และเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้ราคาหุ้น EA สามารถทะลุแนวต้านที่ 100 บาทได้ไม่ยาก

โดยหากประเมินต้นทุนการผลิตรถบัสไฟฟ้า ของ EV ราคาขายประมาณ 5-6 ล้านบาท หลังจากได้ลดภาษีและเงินอุดหนุนแบตเตอรี่แล้ว ราคาขายจะปรับลดลงประมาณ 1 แสนกว่าบาทต่อคัน ซึ่งตลาดรถบัสถือว่าเป็นตลาดใหญ่ของอีเอ

ขณะที่บริษัทเตรียมเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้ารุ่นใหม่ ขนาดบรรทุก 2.5 ตัน ราคาประมาณ 5-6 แสนบาทต่อคัน หากได้รับมาตรการสนับสนุนราคาก็สามารถปรับลดลงได้ 1 หมื่นกว่าบาทต่อคัน

อย่างไรก็ดี นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า จากมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทลดลงประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อ kWh หรือ 650 บาทต่อ kWh ซึ่งในภาพรวมแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมรถ EV คึกคักขึ้น จากราคารถที่ถูกลง ทำให้มีคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจอีวีของ EA จะแบ่งเป็น 3 ส่วน อาทิ ส่วนแรกโรงงานผลิตแบตเตอรี่ หลังจากได้รับเงินอุดหนุน ต้นทุนการผลิตก็จะลดลง ส่งผลให้มาร์จิ้นดีขึ้น ส่วนของรถบัสไฟฟ้า เมื่อต้นทุนแบตฯ ลด ก็จะทำให้ราคาขายลดลง ยอดขายก็จะดีขึ้น และส่วนของสถานีชาร์จจะเป็นผลดีต่อเนื่อง จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการใช้รถ EV ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ การขยายกำลังผลิตโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 GWh ภายในต้นปี 2567 นี้ เพื่อรองรับการใช้งานของรถ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากมาตรการสนับสนุนการใช้แบตเตอรี่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

Back to top button