ล้อมคอก “สมาคมโบรก” ชงรื้อ 6 เกณฑ์ซื้อ-ขายหุ้น หวั่นซ้ำรอย MORE
สมาคม บล.ลงมติเสนอตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนพร้อมปรับปรุง 6 เกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์ หวังป้องกันซ้ำรอยกรณีหุ้น “มอร์ รีเทิร์น” ที่มีการซื้อขายผิดปกติ นำไปสู่การอายัดทรัพย์ของผู้เกี่ยวข้องมูลค่ากว่า 5.3 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) มีการประชุมวิสามัญสมาชิก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ทำนองเดียวกับการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่มีการซื้อขายผิดปกติ สร้างความเสียหายให้กับโบรกเกอร์มากกว่า 10 ราย จนนำไปสู่การอายัดทรัพย์ของผู้เกี่ยวข้องมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่เสนอปรับปรุงส่วนใหญ่เป็นของตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 1.การทำความรู้จักลูกค้า การกำหนดและทบทวนวงเงินลูกค้า คือการเพิ่มปัจจัยพิจารณา เช่น ความเสี่ยงลูกค้าแบบ Total Exposure, กำหนด Hair Cut หลักประกัน ตามปัจจัยด้านการกระทำความผิด พฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม การซื้อขายหุ้น Trading Alert/Turnover List ของลูกค้า และตามปัจจัยคุณภาพ สภาพคล่อง และการกระจุกตัวของหลักทรัพย์
กรณีใช้หลักทรัพย์ในการพิจารณาวงเงิน จะกำหนด Hair Cut ตามปัจจัยของคุณภาพ สภาพคล่อง และการกระจุกตัวของหลักทรัพย์ พิจารณามูลค่าหลักทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลังตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีใช้หลักทรัพย์ที่บล.อื่นพิจารณาวงเงินนั้น จะไม่อนุญาตให้นับทรัพย์สินในบัญชี Credit Balance เนื่องจากไม่ปลอดภาระ รวมถึงการกำหนดให้ทบทวนวงเงินทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน เช่น ปรับลดวงเงินทันทีเมื่อมีการโอน/ถอนหลักทรัพย์ ในการพิจารณาวงเงิน (ลดลงมากกว่า 50%) และการป้องกันการนำหลักทรัพย์เดียวกัน เวียนขอวงเงินได้จากหลายบล.
2.การรับและส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยการกำหนดให้ NVDR ซื้อขายได้เฉพาะนักลงทุนต่างชาติ กำหนดให้การทำธุรกรรมขนาดใหญ่ต้องส่งคำสั่งซื้อขายในกระดาน Big Lot ตามเงื่อนไขที่กำหนด, ระยะเวลาการเปิดและปิดทำการซื้อขายรายหลักทรัพย์ (SET) ปรับเปลี่ยนระยะเวลาเปิดและปิดทำการซื้อขายรายหลักทรัพย์เมื่อตรวจพบว่าหลักทรัพย์มีการซื้อขายผิดปกติ
โดยการยกเลิกรายการ/สั่งห้ามการซื้อขาย/ระงับธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ (SET) ด้วยการกำหนดให้สามารถยกเลิกรายการในกรณีที่การซื้อขายมีลักษณะทุจริต รวมถึงสั่งห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายที่น่าสงสัย และระงับธุรกรรมลูกค้าที่มีรายการซื้อขายผิดปกติหรืออยู่ระหว่างตรวจสอบได้ และให้บล.สามารถเข้าถึงข้อมูลคำสั่งลูกค้าในระบบการซื้อขายที่ลูกค้าส่งคำสั่งเองเพื่อสามารถทำการตรวจสอบคำสั่งได้ เช่น ช่วงก่อนตลาดเปิดเช้าหรือบ่าย
3.การชำระราคาซื้อขาย กำหนดให้สามารถระงับการชำระราคาสำหรับรายการซื้อขายที่ผิดปกติหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ (เช่น ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต) รวมถึงการแยกรายการซื้อขายผิดปกติหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบออกจากรายการซื้อขายที่ต้องชำระราคาตามปกติ การชะลอค่าขาย และการขยายระยะเวลาชำระราคา โดยอำนาจควรครอบคลุมการชำระราคาระหว่างบล.กับบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) และระหว่างบล.กับลูกค้า
4.การวางและรักษาหลักประกัน ทบทวนหลักการการวางหลักประกันกรณีวงเงิน Credit เพื่อการชำระราคา ให้สามารถรองรับเหตุการณ์ที่มีการทุจริตได้ และปรับเพิ่มอัตราการวางหลักประกันกรณีซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด
5.ระบบงานในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ เช่น การจัดตั้ง Securities Bureau (ASCO) เพื่อการตรวจสอบ Credit Limit Exposure โดยมีข้อมูลที่ควรเผยแพร่ อาทิ วงเงินรวมของลูกค้าในบัญชี บล./หลักทรัพย์ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกัน (มีการนำไปใช้ขอวงเงินที่อื่นหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าใด)/วงเงินคงเหลือของลูกค้ารายวัน/ยอดหนี้บัญชี Credit Balance/ยอดหนี้ Overdue
และยังมีการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน และการคำนวณ NC (SEC) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำรงเงินกองทุนและการคำนวณ NC ในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ต้องมีการ Hold หลักทรัพย์ตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล และทบทวนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุน
ที่สำคัญ ได้มีการทบทวนเงื่อนไขหลักทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์มาตรการการกำกับดูแล (SET) โดยเพิ่มปัจจัยด้านคุณภาพในการพิจารณาหลักทรัพย์ที่เข้า Trading Alert/Turnover List หรือจัดทำรายชื่อหุ้นที่อาจเข้าข่ายมาตรการกำกับดูแล (Warning List เพิ่ม) เช่น ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับฐานะการเงินและการประกอบธุรกิจ/การมีผลประกอบการที่ไม่เหมาะสมกับราคาหุ้น/มีการซื้อขายที่ผิดปกติ หรือสร้างความเสียหาย (ไม่ใช่การขึ้นเครื่องหมาย Caution) เพื่อกำหนดหุ้นที่ต้องซื้อขายด้วย Cash Balance และป้องกันความเสียหายในการใช้หลักประกัน Leverage และเป็นแหล่งข้อมูลให้นักลงทุน
และ 6.การจัดทำข้อมูลและรายงานข้อมูล โดยการกำหนดให้บล.เก็บข้อมูลของลูกค้าตามที่กำหนด (เช่น IP address log-in/log-out details เป็นต้น) ในรูปแบบ Unified Format + Machine Readable โดยให้สามารถจัดส่งได้โดยเร็วเมื่อมีการร้องขอ รวมถึงให้จัดส่งเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี (ให้ตรวจสอบความถูกต้องของ Format ได้) เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลเพียงพอในการคัดกรองการกระทำผิดได้ทันท่วงที เมื่อเกิดกรณีจำเป็นเร่งด่วน