‘บอลลูน’ จุดชนวน ‘สงครามการค้าจีน-สหรัฐ’.?

“วิกฤตบอลลูน” ทำให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกการเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์อย่างกะทันหัน


“วิกฤตบอลลูน” ทำให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกการเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์อย่างกะทันหัน จากเดิมหมายมั่นกันว่าการเยือนนี้จะเป็นการประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ-จีนครั้งแรกในรอบมากกว่า 4 ปี

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดอยู่แล้ว กำลังทำท่าว่าจะถดถอยลงไปอีกหลังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่า เครื่องบินรบ F-22 ได้ยิงบอลลูนจีนทิ้งด้วยขีปนาวุธหนึ่งลูก และซากบอลลูนได้ตกลงใกล้ชายหาดเมอร์เทิลในรัฐเซาท์แคโรไลนา

ในขณะที่สหรัฐฯ อ้างว่า บอลลูนดังกล่าวละเมิดอธิปไตยของสหรัฐฯ และเป็น “บอลลูนสอดแนม” เนื่องจากได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้พื้นที่อ่อนไหวเช่นฐานทัพหลายแห่ง นอกจากนี้ยังระบุว่าบอลลูนสอดแนมของจีนได้ลอยเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ มาก่อนอย่างน้อยสามลูกสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ และได้พบอีกหนึ่งลูกก่อนหน้านี้ในสมัยของไบเดน  แต่จีนยืนยันว่าเป็นเพียง “เรือเหาะตรวจสภาพอากาศ” ที่มีจุดประสงค์เพื่อการวิจัย แต่บอลลูนถูกกระแสลมพัดออกนอกทิศทางอย่างไม่คาดคิด

นอกจากจีนจะประณามการกระทำของสหรัฐฯ ว่า “โอเวอร์รีแอค” อย่างชัดเจนแล้วยังได้เปลี่ยนปฏิกิริยาจาก “ความรู้สึกเสียใจ” ไปเป็น “คำขู่” ตอบโต้สหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

ปฏิกิริยาของทั้งสองฝ่ายทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและสหรัฐฯ มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวกและอาจจะถดถอยลงอีก

คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ทั้งสองฝ่ายจะหา “ทางลง” เพื่อไม่ให้วิกฤตบอลลูนลุกลามบานปลายเพิ่มอีกได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ จีนและสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่จะกลับมาคุยเป็นปกติในช่วงฤดูร้อนที่แล้ว หลังจากแนนซี่ เพโลซี  ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนไต้หวัน และจีนยิงขีปนาวุธเหนือเกาะไต้หวันตอบโต้

ตัวทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจอีกอย่างหนึ่งคือ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฏรคนใหม่ จะตัดสินใจเยือนไต้หวันตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่  ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ และไต้หวัน อาจเพิ่มความตึงเครียดยิ่งขึ้น เพราะจะมีแรงบีบจากทั้งสองพรรคการเมืองให้ไบเดนแข็งกร้าวกับรัฐบาลปักกิ่งหนักขึ้น

ตัวสี จิ้นผิงเองก็ถูกประชาชน และการเมืองในประเทศกดดันอย่างหนักไม่ให้อ่อนข้อกับสหรัฐฯ หลังจากที่โดนด่ายับกับนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์”   จึงยากพอสมควรที่สีจะดำเนินนโยบาย “อ่อนข้อ” ต่อสหรัฐฯ แม้ว่าอยากจะทำก็ตาม

มีการมองเช่นกันว่า ปฏิกิริยาที่ขึงขังของสองฝ่ายต่อวิกฤตบอลลูนนี้ อาจจะเป็นเพียงการแสดงเหมือนหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา และอาจจะเป็นเพียงข้ออ้างของสหรัฐฯ ที่จะยกเลิกการเยือนปักกิ่งของบลิงเคน เพราะสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับจีนและไม่มีการคาดหวังความสำเร็จใด ๆ จากการเยือนจีนถึงแม้ว่าจะไม่ยกเลิกก็ตาม

สิ่งที่ดีที่สุดและ “เซฟ” ที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายในขณะนี้คือ คงสภาวะที่เป็นอยู่ แล้วจากนั้นค่อยทำเสมือนว่า มี “ความพยายาม” ที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น  ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะไม่ลุกลามบานปลายกลายเป็น “สงครามการค้า” เหมือนสมัยโดนัลด์ ทรัมป์

บทเรียนที่ผ่านมาน่าจะทำให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ตระหนักและรู้อยู่เต็มอกแล้วว่า  พัฒนาการการใด ๆ ที่นำไปสู่ “สงครามการค้า” มันสร้างความเสียหายต่อสองประเทศมากมายอย่างแท้จริงเพียงไร

Back to top button