WTI-BRENT ปิดพุ่ง 3% รับดอลลาร์อ่อน-ดีมานด์จีนฟื้น
น้ำมัน WTI-BRENT ปิดพุ่ง $3.03 รับดอลลาร์อ่อนค่า รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันในจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 4% ในวันอังคาร (7 ก.พ.) หลังจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันในจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 3.03 ดอลลาร์ 4.1% ปิดที่ 77.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.70 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 83.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
ด้านนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายพาวเวลกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน (Economic Club of Washington) เมื่อคืนนี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflationary) ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การชะลอตัวของเงินเฟ้อนั้น เริ่มปรากฎให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะในภาคสินค้า (Goods Sector) นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนม.ค.ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.19% แตะที่ 103.4120 เมื่อคืนนี้ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
ตลาดน้ำมันได้รับปัจจัยบวกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัว หลังจากตุรกีสั่งปิดท่าเรือเจย์ฮัน ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยท่าเรือเจย์ฮันเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่ส่งออกน้ำมันดิบมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนม.ค. หรือคิดเป็น 1% ของปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก และส่วนใหญ่มีการส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและเปิดประเทศ โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะมาจากจีน