CHASE โอกาสบนวิกฤติหนี้เสีย

หนึ่งในหุ้นไอพีโอที่ถูกจับตามากสุดขณะนี้..หนีไม่พ้นหุ้น CHASE ด้วยความมาตรการ “ยืดหนี้-พักหนี้” ต่าง ๆ ของ ธปท. สิ้นสุดลงไปแล้ว..


หนึ่งในหุ้นไอพีโอที่ถูกจับตามากสุดขณะนี้..หนีไม่พ้นหุ้นบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด( มหาชน) หรือ CHASE ด้วยความมาตรการ “ยืดหนี้-พักหนี้” ต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดลงไปแล้ว..ทำให้ตัวเลข “หนี้เสีย” ของแต่ละธนาคารและสถาบันการเงิน..ทะลักออกมาอย่างมหาศาล

นั่นจึงกลายเป็นโอกาสของหุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่จะซื้อหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ มาบริหารจัดการและนำไปสู่ผลตอบแทนในรูปของรายได้และกำไรมากยิ่งขึ้น..!!

ที่สำคัญมากว่า AMC รายใดที่มี “ต้นทุนการเงินต่ำ” ย่อมได้เปรียบคู่แข่งอย่างชัดเจน..!!

กรณี CHASE มีการระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอ 1,200 ล้านบาท จึงถือว่ามีเงินหน้าตัก (ที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย) ที่พร้อมเลือกช้อปปิ้งหนี้เสียได้อย่างสบายมือ..

อีกหนึ่งไฮไลท์นั่นคือ “ความสามารถในการจัดเก็บหนี้” ที่เป็นกระจกสะท้อนถึงสามารถของ AMC พบว่า CHASE มีความสามารถจัดเก็บอยู่ในเกณฑ์สูง..เมื่อเทียบกับรุ่นพี่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

โดย CHASE มีอัตราการจัดเก็บ (Cash Collection) ที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเงินลงทุน เมื่อแบ่งพอร์ตลงทุนใน NPL ตามปีที่ซื้อหนี้เข้ามา เช่น CHASE สามารถเก็บเงินสดได้ถึง 252% เทียบเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPL ที่ซื้อมาช่วงปี 2556 นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถจัดเก็บเงินจากพอร์ต NPL ที่บริษัทลงทุน

ข้อมูลรอบ 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทสามารถจัดเก็บกระแสเงินสดจากพอร์ท NPL ได้ 287.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรอบ 9 เดือนปี 2565 ที่จัดเก็บได้ 167.57 ล้านบาท ถึงประมาณ 71.3%

ตัวเลขนี้น่าจะทำให้ใครที่ยัง “คาอก..คาใจ” ได้พอเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น..!?

ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) ถือว่า CHASE มีอัตราคอมมิชชั่นระดับสูงโดยรับอัตราคอมมิชชั่นถึง 21.6% (สิ้นสุด 30 ก.ย. 65) เป็นอัตราค่าคอมมิชชั่นสูงมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดย CHASE เน้นรับติดตามงานที่ทวงถามค่อนข้างยาก อาทิเช่น เป็นลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้มานานแล้ว บางครั้งไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้หรือบางครั้งลูกหนี้มีปัญหาการชำระหนี้

เอาให้ชัดคือ “งานง่าย CHASE ไม่..งานยาก CHASE ทำ” อะไรทำนองนั้น..!!

ในแง่ผู้ถือหุ้น CHASE มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่มคือกลุ่มประชา ชัยสุวรรณ และกลุ่มบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS จะถือหุ้นประมาณ 51.20% และ 20.35% ตามลำดับหลังขายหุ้น IPO ครั้งนี้ แต่กลุ่มอาร์เอสฯ จะยังเป็นแรงผลักดันและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ CHASE ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอนาคต CHASE วางแผนขยายทั้งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) และธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) โดยวางแผนซื้อ NPL ปีละ 1,000 ล้านบาท ขยายทีมเร่งรัดติดตามหนี้สิน เพื่อให้บริการติดตามทวงถามหนี้ เห็นได้จากวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน คือ เพื่อนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในอนาคต 1,000-1,120 ล้านบาท ภายในปี 2568 ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป

จากราคาไอพีโอ 2.90 บาท มูลค่าทางบัญชี (BV) 1.03 บาท หรืออัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ประมาณ 2.82 เท่า เทียบกับการเติบโตของ CHASE ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว..!?

Back to top button