KTIS มั่นใจกำไรปี 66 โตต่อ รับราคาน้ำตาลพุ่ง-ผลผลิตเพิ่ม
KTIS มั่นใจกำไรปี 66 เติบโตดีกว่างวดปี 65 รับปริมาณและคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น ราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่องนิวไฮรอบกว่า 6 ปี พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล-เอทานอล-นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ขยายตัว แถมดีมานด์บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยเพิ่มขึ้น
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 2566 ว่า ในสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย จะได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณและคุณภาพอ้อยที่สูงกว่าปีก่อน อีกทั้งราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็ยังคงอยู่ในระดับสูง จึงมั่นใจว่ารายได้ในสายธุรกิจน้ำตาลจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“เราคาดว่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่ด้วยคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายสูงขึ้นมากกว่า 10% เพราะปริมาณน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่สูงกว่าปีก่อน และสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี ก็ยิ่งทำให้สายธุรกิจน้ำตาลดูโดดเด่นในปีนี้” นายสมชายกล่าว
สำหรับสายธุรกิจชีวภาพ ก็จะมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน เพราะมีปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น โดยที่ราคาขายไฟฟ้า เอทานอล และเยื่อกระดาษ ก็เป็นราคาที่ดีขึ้นด้วย โดยเห็นสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 65) ซึ่งราคาขายเยื่อกระดาษชานอ้อยเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นจากตันละ 2,980 บาท เป็น 5,587 บาท ราคาขายเอทานอลเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นจากลิตรละ 24.70 บาท เป็น 29.50 บาท และราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับเพิ่มขึ้นจากหน่วยละ 3.01 บาท เป็น 4.09 บาท
“การดูผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS หากดูเฉพาะไตรมาสแรก (ตุลาคม – ธันวาคม 2565) จะยังไม่ได้สะท้อนภาพรวมธุรกิจทั้งปี เพราะเป็นช่วงรอยต่อของฤดูหีบอ้อยปี 64/65 และ 65/66 โดยอ้อยเพิ่งเริ่มเข้าหีบในเดือนธันวาคม ดังนั้น ผลผลิตน้ำตาลยังอยู่ในกระบวนการผลิต อีกทั้งวัตถุดิบที่ป้อนให้กับธุรกิจต่อเนื่องคือโรงไฟฟ้า โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานผลิตเอทานอล ก็ยังไม่เต็มที่ แต่ต้นทุนการผลิตรับรู้ไปก่อนแล้ว ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติของการรับรู้รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป จึงเชื่อว่า ผลการดำเนินงานทั้งปี 2566 จะสูงกว่าปี 2565 อย่างแน่นอน” นายสมชายกล่าว
โดยโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น ก็จะเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก นอกจากนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และกลุ่ม ปตท. ก็จะทยอยสร้างรายได้ตามส่วนแบ่งของบริษัทฯ เข้ามาอีกด้วย