PTTGC ตั้งเป้าปี 66 ปริมาณขายเพิ่ม 15% วางงบลงทุนหมื่นลบ.-ปิดดีล M&A

PTTGC ปักหมุดปี 66 ปริมาณขายเพิ่ม 15% รับโรงกลั่นกลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้ง หลังปิดซ่อมไปก่อนหน้านี้ วางงบลงทุนหมื่นลบ. ขยายลงทุนตามแผน จ่อปิดดีล M&A โรงงานรีไซเคิล-ท่าเรือก๊าซในสหรัฐ


นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 678,267 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากในปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นจากการเปิดประเทศทั่วโลกทำให้ความต้องการในการใช้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีบริษัทฯ มีส่วนแบ่งเงินกำไรจากเงินลงทุนที่รับรู้ในปีนี้จำนวน 2,908 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากผล ประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลงในปีนี้ ทั้งนี้ในปีนี้บริษัทฯ มีการบันทึกรายการพิเศษรวม 893 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทฯ รายงานผลขาดทุนสุทธิรวม 8,752 ล้านบาท

สำหรับในปี 66 บริษัทฯ ตั้งเป้าปริมาณการขายเติบโต 15% จากธุรกิจโรงกลั่นสามารถเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต หลังปิดซ่อมบำรุงไปเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัท Allnex Holding GmbH (Allnex) เข้ามาเต็มปี และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) หรือ VNT เข้ามาต่อเนื่อง หลังจากเข้าถือหุ้นราว 35% ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์, พอลิเมอร์ ดีกว่าปีก่อน สนับสนุนให้มาร์จิ้นแต่ละผลิตภัณฑ์ดีขึ้นตามไปด้วย เป็นไปตามทิศทางอุตสาหกรรมปลายทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น เช่น ยานยนต์, สิ่งทอ, บรรจุภัณฑ์ และก่อสร้าง เป็นต้น

สำหรับงบลงทุนปีนี้วางไว้ที่ 10,000 ล้านบาท ใช้รองรับการขยายการลงทุนตามแผน แบ่งเป็น 1. โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น คาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/66

2.โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน ธ.ค.65

3.โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ของบริษัท NatureWorks ที่จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 67

4.โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ GC ร่วมทุนกับ บริษัท Kuraray และ บริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/66 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก

บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในโครงการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในสหรัฐ และโครงการท่าเรือขนส่งก๊าซฯ ในสหรัฐ ทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการ (M&A) และลงทุนด้วยตัวเอง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ โดยมองว่าการลงทุนในสหรัฐขณะนี้ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก แต่อย่างไรก็ตามเงินลงทุนเพื่อการทำ M&A จะแยกออกมาอีกต่างหากจากเงินลงทุนตามแผนงานปกติ

Back to top button