“สุรินทร์ สหชาติโภคานันท์” ผู้บริหารมือทอง “ออริจิ้น” สู่ซีอีโอ BRI มุ่งพาธุรกิจโตมั่นคง
รู้จัก “สุรินทร์ สหชาติโภคานันท์” จากมือบริหารยุคบุกเบิก “ORI” สู่ CEO ใหม่ “BRI” เปิดภารกิจพาแบรนด์ “บริทาเนีย” โตแกร่ง-มั่นคง-ก้าวกระโดด
บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาบ้านจัดสรรที่น่าจับตาที่สุดแห่งหนึ่งของตลาดในขณะนี้ เพราะใช้เวลาเพียงไม่ถึง 5 ปี ก็สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จนสามารถ Spin-off จากบริษัทแม่อย่าง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี 2564
หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ราว 1 ปี เมื่อช่วงปลายปี 2565 บริทาเนีย ได้แจ้งข่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการส่งไม้ต่อให้ สุรินทร์ สหชาติโภคานันท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO คนใหม่ มีผลเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 กลายเป็นที่จับตาว่าผู้บริหารใหม่คนนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และจะส่งผลให้บริษัทที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีทิศทางอย่างไร
นายสุรินทร์ สหชาติโภคานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRI เล่าว่า ตัวเองเรียนจบด้านบริหารงานก่อสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และใช้ชีวิตอีกกว่า 30 ปี วนเวียนอยู่กับงานในแวดวงด้านงานวิศวกรรม งานโยธา งานที่ปรึกษา ไปจนถึงงานระดับบริหาร เริ่มจากการเข้าทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการก่อสร้างอย่างซิโน-ไทย ประมาณ 6-7 ปี จากนั้นไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารโครงการทั้งอาคารสูง, โรงแรม, และโครงการแนวราบ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็น Co-CEO ของกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบในเครือ Double A ดูแลทั้งงานพัฒนาโครงการแนวราบและงานก่อสร้างในเครือ
ช่วงที่ย้ายมาอยู่ออริจิ้น เป็นช่วงบุกเบิกก่อนออริจิ้น จะก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 1 ปี เป็นยุคที่มีผู้บริหารหลักร่วมลุยกันไม่กี่ท่าน อาทิ พีระพงศ์ จรูญเอก (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร), สมสกุล แสงสุวรรณ (ปัจจุบัน เป็นประธานเจ้าหน้าที่สายงานออกแบบผลิตภัณฑ์) และตัวเขา ซึ่งเริ่มต้นจากตำแหน่ง VP คอยช่วยคุมงานบริหารการก่อสร้าง ก่อนจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ หรือ COO และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารงานก่อสร้างของเครือออริจิ้น รวมเวลาที่เป็นลูกหม้อเครือออริจิ้น คือเกือบ 10 ปี
“ออริจิ้นเป็นองค์กรที่เติบโตเร็วมาก ยุคแรกที่เข้ามามียอดโอนไตรมาสนึงสัก 300 ล้านก็เฮแล้ว ช่วงที่ได้รับโจทย์ให้นั่งควบทั้งตำแหน่ง COO และตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารงานก่อสร้างคือ ดูแลทั้งงานก่อสร้างโครงการและการสร้างทีมขององค์กร ช่วยบริหารองค์กรให้เติบโตทันกับแผนงานการขยายธุรกิจ”
ที่ผ่านมา บริทาเนีย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของออริจิ้น ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ด้วยกลยุทธ์การเติบโตแบบทวีคูณ หรือ Multiple Growth นั่นเป็นเหตุให้สุรินทร์ ได้รับโจทย์ให้ย้ายมานั่งควบในฐานะบอร์ดและประธานอำนวยการของบริทาเนีย ในยุคก่อนบริทาเนียจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 1 ปี และขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่ เพื่อช่วยสร้างทีม สร้างองค์กรให้แก่บริษัทที่นับเป็น Cash Cow สำคัญของเครือออริจิ้น
สุรินทร์ ย้ำว่า วันนี้มีโจทย์หลักที่เขามอง 3 เรื่อง ในการบริหารบริทาเนีย ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ให้มีจุดต่าง ปี 2565-2566 เป็นปีที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แข่งขันกันเปิดตัวโครงการใหม่แบบ “เกรี้ยวกราด” และเศรษฐกิจยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาหลายเรื่อง การพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง มีจุดแข็งและจุดขายที่ชัดเจนนอกจากเรื่องทำเลและราคา จะเป็นส่วนสำคัญให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน 2.การสร้างทีมให้พร้อมรับการเติบโต ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการเติบโตของบริทาเนียจะยังคงไม่หยุดนิ่ง และ 3.การยกระดับกลุ่มงานบริการ ที่คำนึงถึงการให้คุณค่ากับการดูแลผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรให้ดียิ่งขึ้นในทุกขั้นตอน
การเติบโตของบริทาเนียภายใต้การนำทัพของ สุรินทร์ สหชาติโภคานันท์ กำลังค่อยๆ เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ และการประกาศทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ร่วมหมื่นล้านแห่งนี้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. น่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่ต้องจับตา
สำหรับ BRI เป็นผู้พัฒนาบ้านจัดสรรภายใต้แนวคิด CRAFT a life you love พัฒนาทั้งบ้านเดี่ยว บ้านซีรีส์ใหม่ ทาวน์โฮม ครอบคลุมผู้บริโภคทุกเซ็กเมนท์ ภายใต้ 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ 1.เบลกราเวีย (Belgravia) บ้านเดี่ยวลักชัวรี ระดับราคา 20-50 ล้านบาท 2.แกรนด์ บริทาเนีย (Grand Britania) บ้านเดี่ยวและบ้านแฝดระดับ High-End ราคา 8-20 ล้านบาท 3.บริทาเนีย (Britania) บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ระดับ Mid-end ราคา 4-8 ล้านบาท และ 4.ไบรตัน (Brighton) บ้านแฝด และทาวน์โฮม ระดับเริ่มต้น (Entry) ราคา 2.5-4 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2565 พัฒนาโครงการมาแล้วทั้งสิ้น 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการสะสม 36,449 ล้านบาท