“ดาวโจนส์” ร่วง 400 จุด หวั่น “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยแรง หลังดัชนี PCE พุ่งเกินคาด
“ดาวโจนส์” ร่วงกว่า 400 จุด หลังดัชนี PCE เดือนม.ค. พุ่งเกินคาด กังวลเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 400 จุด ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้น ท่ามกลางความวิตกที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ณ เวลา 22.02 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,704.11 จุด ลบ 449.80 จุด หรือ 1.36%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
สำหรับตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ที่พุ่งขึ้นเกินคาดเป็นการตอกย้ำว่าเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาดเช่นกัน
ขณะที่นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือนมิ.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ โดยไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)