BEAUTY วางเป้าปี 66 “เทิร์นอะราวด์” ชูโมเดลธุรกิจใหม่ ลดขาดทุนต่อเนื่อง

BEAUTY ส่งซิกธุรกิจปี 66 เทิร์นอะราวด์ ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ-พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ รุกช่องทางจำหน่ายทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ


ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2565 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 365.46 ล้านบาท ลดลง 11.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 411.82 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชีสุทธิ  67.68 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 16.21% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 80.77 ล้านบาท ผลขาดทุนที่ลดลงเนื่องจากการปรับกลยุทธ์แนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร รวมถึงลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4/65 บริษัทมีรายได้รวม 103.12 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 117.30  ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 50.22 % จากไตรมาส 3/65 ที่มีรายได้รวม 68.65  ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12.32 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3/65 ที่มีขาดทุนสุทธิ 26.64 ล้านบาท

รายได้ของบริษัท หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น  เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่นธุรกิจ

ดร.พีระพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจปี 2566 คาดว่าผลประกอบการจะมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ และตั้งเป้าหมายจะพลิกกลับมามีกำไรในปีนี้ พร้อมทั้งเดินหน้าปรับเปลี่ยนนิยามและภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ภายใต้ร้าน BEAUTY BUFFET ไม่ว่าจะเป็นเซนทิโอ (SCENTIO) บิวตี้ คอทเทจ (BEAUTY COTTAGE) แลนซ์เลย์ (LANSLEY) และเมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE) และบริษัทยังคงมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก

ได้แก่ 1.พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ (Re Model) 2.ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Refresh Branding) 3.ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ (Re Structuring) เพื่อพัฒนาธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งภายใน 3 ปี

โดยช่วงต่อจากนี้  ตลาดในประเทศ บริษัทจะเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในกลุ่ม BEAUTY & WELLNESS ออกสู่ตลาดแมส ( Mass Market ) ส่วนช่องทางจำหน่ายยังคงเดินหน้าขยายช่องทางสินค้าอุปโภค (consumer product ) ไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี โลตัส ท๊อป วัตสัน CJ Express ฯลฯ และเจอร์เนอร์รัลเทรด กระจายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายไปสู่ร้านค้าปลีกในระดับอำเภอ โดยปรับรูปแบบสินค้าให้มีขนาดและราคา ที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ

ขณะที่ร้านค้าปลีก BEAUTY BUFFET SHOP รูปแบบใหม่จำนวน 10 แห่ง มีกระแสตอบรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดขายเติบโตขึ้นทุกจุดจำหน่าย ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายช่องทางจำหน่ายและปรับปรุง โดยจะทยอยปรับปรุง BEAUTY BUFFET SHOP อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสื่อสารการตลาดด้วยภาพลักษณ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์แบบ O2O เต็มรูปแบบ และพรีเซนเตอร์ที่หลากหลาย

ล่าสุดบริษัทมีแผนขยายช่องทางการขายรูปแบบใหม่ โดยให้สิทธิ์การเปิดร้านค้า (Shop License) แบบ KIOSK License เพื่อกระจายสาขาให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า เน้นโลเคชั่นในห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าที่ใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งทำเลการค้าต่างๆ ขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบุคคลทั่วไป ผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีความสนใจในธุรกิจเครื่องสำอาง ได้มีโอกาสเข้าสู่ธุรกิจอย่างมีศักยภาพ สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม และแข่งขันกับแบรนด์เครื่องสำอางทุกประเภทได้อย่างครอบคลุม ผ่านแบรนด์ของ BEAUTY BUFFET ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน

สำหรับช่องทาง E-Commerce จะเน้นเพิ่มความสามารถการนำเสนอสินค้ากับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น พัฒนาระบบบริหารจัดการสินค้าให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มแพลตฟอร์มการเข้าถึงสินค้าให้มีความหลากหลายทั้งเว็บไซต์ของบริษัท, Market Place ชั้นนำ, Social Media ที่มีศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการการเข้าถึงได้ทุกช่องทาง สั่งซื้อง่าย และได้รับสินค้าถูกต้อง รวดเร็ว

ส่วนช่องทางตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายใน 11 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ซาอุดิอาระเบีย ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ลาว มาลเซีย  อินเดีย ญี่ปุ่น ยอดขายในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งบริษัทมีแผนขยายตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

Back to top button