ครม. ไฟเขียว “กฟผ.” สร้างเคเบิ้ลใต้ทะเลกว่า 1.1 หมื่นลบ. คาดเสร็จปี 72
“ครม.” เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สร้างโครงการเคเบิ้ลใต้ทะเลไปเกาะสมุย กว่า 1.1 หมื่นลบ. คาดก่อสร้างแล้วเสร็จ มิ.ย.72
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ มิ.ย.72
โดยโครงการนี้เพิ่มขีดความสามารถในการส่งพลังงานไฟฟ้าไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่า และเกาะพะงัน) เพื่อสนองตอบต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
ทั้งนี้ กฟผ. จะใช้เงินรายได้ (Internal Cash Flow) เป็นลำดับแรก ไม่น้อยกว่า 25% และแหล่งเงินทุนอื่นๆ 75% ซึ่งหากมีความต้องการใช้เงินกู้ จะพิจารณากู้เงินในประเทศเป็นลำดับแรก
สำหรับโครงการฯ นี้ มีการก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 เควี (kV) ขนอม-เกาะสมุย จำนวน 2 วงจร รวมระยะทางประมาณ 52.5 กม. และติดตั้ง Fiber Optic-ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (kV) ขนอม พร้อมปรับปรุงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง – ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่) พร้อมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 230/115 เควี (kV) ขนาด 300 MVA จำนวน 2 ชุด จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)
ส่วนวงเงินลงทุน 11,230 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 4,969.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศ และการก่อสร้างอีก 6,260.5 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าบนเกาะสมุย และเกาะข้างเคียง (เกาะพะงัน และเกาะเต่า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination :IEE) โดยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 10,130.7 ล้านบาท จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.0025 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการฯ
โดยกระทรวงการคลัง ไม่มีความจำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจาก กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ และมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีสัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี