พาราสาวะถี

เห็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติให้กับ 14 ส.ส.แล้ว ไม่ได้มีอะไรหวือหวา หรือเรียกเสียงฮือฮาได้จากกองเชียร์แต่อย่างใด


เห็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติให้กับ 14 ส.ส.ภายใต้การนำทีมของ สุชาติ ชมกลิ่น และ ธนกร วังบุญคงชนะ แล้ว ไม่ได้มีอะไรหวือหวา หรือเรียกเสียงฮือฮาได้จากกองเชียร์แต่อย่างใด ก็เป็นพวกที่รู้กันอยู่แล้ว ส่วนที่จะมาเสริมทัพหลังปิดสมัยประชุมก็หน้าเดิมที่ได้แสดงเจตนาย้ายเข้าคอกพรรคของท่านผู้นำกันมาก่อนหน้า ถ้าพิจารณาจากพื้นฐานความเป็นจริงของการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีคนสอบตกจำนวนไม่น้อย

ยิ่งรายชื่อของ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ด้วยระบบการเลือกตั้งที่วางไว้เพื่อขบวนการสืบทอดอำนาจ เปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งใหม่ บวกกับกระแสความนิยมในตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ และบริบททางการเมืองที่ต่างกัน พวกที่เปลี่ยนสีเสื้อเชื่อได้เลยว่าเกินครึ่งน่าจะกลายเป็น ส.ส.สอบตก ด้วยเล่ห์กลที่ใช้กันมาตลอด คอการเมืองก็ยังไม่ไว้วางใจ ท้ายที่สุดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น คงหนีไม่พ้นการอุ้มสมกันของลิ่วล้อที่ได้อานิสงส์จากเผด็จการช่วยให้มีตำแหน่งแห่งหน และอำนาจ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์กันระหว่างอย่างหนากับหลักการว่าด้วยความสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม

จุดชี้วัดความเที่ยงธรรม ไม่ตีความข้อกฎหมายชนิดบิดเบี้ยว เข้าข้างกันจนน่าเกลียด คงเป็นกรณี “สามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่แสดงอาการคนมีของ (ดีกว่าใครเพื่อน) ไม่ใช่กลอนพาไปบนเวทีปราศรัยที่โคราชยกเอาเรื่องสถาบันมาพูด ซึ่งเป็นข้อห้ามตามหมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 ซึ่ง กกต.เพิ่งออกเป็นระเบียบใหม่ในการหาเสียงระบุไว้ชัดว่า “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง”

ตรงนี้เป็นความผิดชัดเจนหรือไม่แทบไม่ต้องสืบ นอกเหนือจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและแกนนำของพรรคจะต้องตักเตือนแล้ว กกต.ในฐานะผู้คุมกฎต้องทำอย่างไร ถ้าสถานเบาต้องออกคำสั่งตักเตือน ไม่ให้ปฏิบัติอีก แต่หากพิจารณาในแง่ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็สามารถนำไปสู่การตีความได้ว่า อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 73(5) ประเด็นจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครและพรรคการเมือง ซึ่งโทษมีไปถึงการตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ก็ยังชี้ด้วยว่า หากเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 92(2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  อันนี้โทษถึงยุบพรรค และเลขาธิการ กกต.ต้องสรุปเรื่องใน 7 วัน ตามระเบียบยุบพรรคติดเทอร์โบฉบับใหม่ที่ กกต.ออกมา ไม่ว่าจะกำหนดรูปแบบ กติกามาเพื่อหวังผลอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายจะวกกลับมาเป็นบทพิสูจน์เรื่องความเที่ยงธรรม เคร่งครัดของคนที่วางกฎโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นกันแล้วว่าน่าเชื่อถือ ศรัทธาขนาดไหน

ฟันธงได้เลยว่า เรื่องแบบนี้คงหนีไม่พ้นอีหรอบเดิม อยู่ที่ว่าจะใช้วิธีการชี้แจงกับสังคมแบบไหน เพราะเห็นกันมาอยู่แล้วว่าองค์กรอิสระที่ต้องแสดงความโปร่งใส ใช้วิธีการสื่อสารกับประชาชนแบบทางเดียว ด้วยการออกเป็นเอกสารข่าว ไม่ยอมให้สื่อได้ซักถาม ไม่รู้ว่ากลัวจะหลุดพูดในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ถึงความเป็นกลาง ไร้บรรทัดฐานหรืออย่างไร นั่นจึงกลายเป็นว่าไม่ว่าจะขยับเรื่องไหนก็จะเต็มไปด้วยข้อกังขาอยู่ตลอดเวลา

นี่ก็เหมือนกันแสดงตัวว่าเป็นกลาง ยึดหลักการอย่างเคร่งครัดมาเกือบ 4 ปี แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายวานนี้เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.เลื่อนการใช้บังคับบางมาตราของ พ.ร.บ.อุ้มหาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำท่าว่าจะทำตัวเป็นคนหลักการหายไปด้วย เนื่องจากสัญญาณทางการเมืองชัดว่า มีแนวโน้มที่ พ.ร.ก.ดังกล่าวอาจไม่ผ่านสภา นั่นจะส่งผลให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา

ประสาศรีธนญชัยทางกฎหมายฝ่ายกุมอำนาจจึงใช้วิธีให้ ส.ส.เข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 5 หรือประมาณ 90 คนของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการดึงเกม ซื้อเวลา เพราะเมื่อมีการยื่นเรื่องแล้ว ประธานสภารับเรื่องแล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ สภาต้องยุติเรื่องที่พิจารณาไม่สามารถลงมติได้  เป็นการตัดหน้าการลงมติของสภาที่จะส่งผลต่อความรับผิดชอบของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ

กรณีตามกระบวนการหลังประธานสภาได้รับเรื่อง ต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ซึ่งในอดีตเคยใช้เวลา 2-3 วัน  เมื่อยื่นแล้วการรับเรื่องทางธุรการของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ถือว่าศาลรับเรื่องไว้พิจารณา ต้องรอกระบวนการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อน จึงไม่อาจเป็นเหตุให้ยุติการลงมติของสภาได้ แต่ปรากฏว่าจอมหลักการใช้อำนาจประธานสภาตรวจสอบการเข้าชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างเร่งด่วนทันที แล้วอาศัยจังหวะดังกล่าวสั่งปิดการประชุมสภา

ด้วยเหตุนี้สมชัยจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจรายชื่ออย่างเร่งด่วน และรีบส่งออกต่อศาลรัฐธรรมนูญ  เป็นการแสดงตัวไม่เป็นกลางของการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา มุ่งสนับสนุนการทำหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล  เพื่อหลีกเลี่ยงการลงมติคว่ำ พ.ร.ก. เป็นการเสื่อมเกียรติอย่างยิ่ง รายชื่อที่ลงนามส่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ส่งออกจากสภาด้วยซ้ำ  และธุรการของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับเรื่อง และถึงธุรการรับเรื่องยังต้องรอคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ จึงไม่ควรเป็นเหตุให้ต้องรีบปิดการประชุมสภาที่กำลังพิจารณาวาระดังกล่าว

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมชัยขอไว้อาลัยต่อการทำหน้าที่ที่ไม่เที่ยงธรรมของจอมหลักการ แต่เชื่อได้เลยว่าจะมีการยกเหตุผลสารพัดมาอ้างว่าเมื่อมีการยื่นร้องแล้ว และเป็นการเร่งด่วน สภาจะปิดสมัยประชุมแล้ว หากเร่งรีบพิจารณาเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย การตัดสินใจเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและตนพร้อมที่จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว การประกาศเช่นนี้ก็รู้ดีอยู่แล้วว่าคือการไม่รับผิดชอบใด ๆ นั่นเอง ความจริงพรรคที่อ้างว่ายึดมั่นในระบบ เดินตามระบอบมันพบจุดจบนับแต่การไปสมสู่กับขบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว

Back to top button