“ดาวโจนส์” ปิดบวก 387 จุด หลัง “บอนด์ยีลด์” ลดต่ำกว่า 4%

ดัชนี "ดาวโจนส์" ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก 387 จุด รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นต่อในวันศุกร์ (3 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลง หลังจากการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ช่วยบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,390.97 จุด เพิ่มขึ้น 387.40 จุด หรือ +1.17%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,045.64 จุด เพิ่มขึ้น 64.29 จุด หรือ +1.61% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,689.01 จุด เพิ่มขึ้น 226.02 จุด หรือ +1.97%

โดยดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวพุ่งขึ้นมากกว่า 1% โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเกือบ 2% โดยได้แรงหนุนจากหุ้นตัวใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย และในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 1.75%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.9% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 2.58%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกหลังติดลบ 3 สัปดาห์ติดต่อกัน และดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์แรกนับตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. นอกจากนี้ ดัชนี S&P500 ยังสามารถพุ่งขึ้นทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 และ 200 วันด้วย

ทั้งนี้ การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นแรงหนุนหลักต่อตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 4% โดยการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากถ้อยแถลงของนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนนี้

อย่างไรก็ดี นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และเชื่อว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด

ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เตรียมกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันอังคารที่ 7 มี.ค. เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 8 มี.ค.ในเวลาเดียวกัน

ตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวลเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21-22 มี.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันศุกร์ (3 มี.ค.) บ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 จากระดับ 55.2 ในเดือนม.ค.

ดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.6 ในเดือนก.พ. จากระดับ 46.8 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.5, ดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 7 เดือน

โดยหุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวก ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด โดยปรับตัวขึ้น 2.14% และ 2.12% ตามลำดับ, หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 3.5% หลังมอร์แกน สแตนลีย์เปิดเผยว่า หุ้นแอปเปิ้ลอาจทะยานขึ้นมากกว่า 20% ในปีนี้จากการเปิดบริการสมัครใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของแอปเปิ้ล, หุ้นบรอดคอม อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิป พุ่งขึ้น 5.7% หลังคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 2 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เนื่องจากการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระตุ้นความต้องการใช้ชิป

Back to top button