3 อสังหารุกหนักดันรายได้โต

3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย กลับมาประกาศตัวรุกหนักในปี 2566 นี้ หลังภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง


เส้นทางนักลงทุน

3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทย กลับมาประกาศตัวรุกหนักในปี 2566 นี้ หลังภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง บจ.ในกลุ่มนี้ทำสถิติสูงสุดของยอดขาย รายได้ และกำไร จากผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF), บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) และ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH)

โดย PF จะมุ่งการเติบโตในทุกมิติ ทั้งด้านรายได้ การเพิ่มยอดขาย การพัฒนาสินค้าใหม่ รวมถึงการกระจายธุรกิจ จึงประกาศตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาทจากปีก่อน แบ่งเป็นรายได้ของ PF ราว ๆ 1.6 หมื่นล้านบาท

และ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ราว ๆ  6 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากโครงการแนวราบ 9.6 พันล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียม 3 พันล้านบาท โครงการร่วมทุน 6.4 พันล้านบาท และธุรกิจโรงแรม 3 พันล้านบาท

พร้อมวางเป้ายอดขายไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท มาจากคอนโดมิเนียม 9.7 พันล้านบาท ทั้งจากโครงการในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น 2,400 ล้านบาท และโครงการตามแผนการร่วมหุ้นอีก 4,400 ล้านบาท

ในปีนี้ PF มีแผนการเปิด 14 โครงการ มีมูลค่า 1.77 หมื่นล้านบาท และจะใช้จุดเด่นด้านแนวราบมาขยายโครงการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการขยายตัวจากแผนการร่วมหุ้น ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่มีการเก็บเกี่ยวจากการร่วมหุ้นดังกล่าว

สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากโครงการภายใต้การบริหารงานของบริษัท 70% และจากโครงการที่ร่วมหุ้น 30% ของรายได้รวม ตลอดจนมีการกระจัดกระจายธุรกิจด้วยการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงการค้าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว ที่จะเริ่มรับทราบรายได้ในปี 2567

ด้าน LPN เปิดแนวคิด “Transform for Better Living” ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกมิติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด โดยตั้งเป้าตามแผนโรดแมป 5 ปี (2565-2569) จะสร้างรายได้รวม 5 หมื่นล้านบาท

รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการภายในให้สามารถกระจายรายได้อย่างสม่ำเสมอ และมีการเติบโตของกำไรอย่างน้อย 10% ต่อปี ตามแผนการขับเคลื่อนองค์กรให้เทิร์นอะราวด์ (Turnaround) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2566

ทั้งนี้ ปีนี้ LPN วางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 7.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 20% จากปีก่อน ที่ 6.14 พันล้านบาท โดยมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่รวม 17 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ “168” แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 4 โครงการ มูลค่า 5,000 ล้านบาท และโครงการบ้านพักอาศัย 13 โครงการ มูลค่า 9,000 ล้านบาท

และมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 1,845 ล้านบาท ที่จะสร้างรายได้ในปี 2566-2568 ขณะที่มีสินค้าคงเหลือรอขาย (Inventory) มูลค่า 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่ LPN จะขยายการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในต่างจังหวัดอีกครั้ง โดยเฉพาะในทำเลเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หลังเห็นโอกาสตามการขยายตัวของเมือง เส้นทางคมนาคม และความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเปิดโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดอุดรธานี ชลบุรี พัทยา และชะอำ มาแล้ว

ส่วน PSH ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะมีรายได้รวมของทั้งกลุ่มจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปี 2565 ที่ 2.86 หมื่นล้านบาท ทำกำไรสุทธิได้ 2.77 พันล้านบาท

ภายใต้ยอดขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และยอดโอนที่ 2.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังมีแผนการซื้อที่ดินรองรับการเปิดตัวโครงการใหม่ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งปีนี้จะเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน 23 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.35 หมื่นล้านบาท และมีแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่อีกราว 6 พันล้านบาท เป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่จะเริ่มมีความชัดเจน ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงการปรับโครงสร้างของธุรกิจพรีคาสต์ที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังมีแบ็กล็อกเหลือราว 6.1 พันล้านบาท ที่จะส่งมอบทั้งหมดภายในปีนี้

ในปี 2565 ที่ผ่านมา PSH มุ่งเพิ่มสัดส่วนการสร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง (Recurring Income) เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จึงได้มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจใหม่ เช่น การตั้งกองทุน Corporate Venture 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน Prop Tech, Health Tech และ Sustainable Tech

และล่าสุดได้ร่วมกับแคปปิตอลแลนด์ อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป และ แอลลี่ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” ตั้งเป้ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์ภายใต้การจัดการ 1,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ มีแผนจะขยายโรงพยาบาลวิมุตแห่งใหม่ที่ปิ่นเกล้า แบ่งเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะเปิดบริการได้ภายใน 2-3 ปี รวมถึงเปิดศูนย์สุขภาพ “เวลเนสเซ็นเตอร์” เป็นโครงการร่วมทุน 1 แห่ง และโรงพยาบาลวิมุตเปิดเอง 2 แห่ง

Back to top button