จับตา FED เร่งเครื่องต่อ! อัด“ยาแรง”สกัด“เงินเฟ้อ” เตือน“ธุรกิจไทย”รับมือ

หลังการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของ  เจอโรม พาวเวล ประธาน …


หลังการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของ  เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด ออกมาพูดถึงแนวโน้มการใช้มาตรการทางการเงิน ที่แถลงต่อสภาคองเกรสในรอบครึ่งปี ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนกับการใช้ยาแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์  เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐในตอนนี้ยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นาย พาวเวล ยังวิเคราะห์ว่า แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะส่งสัญญาชะลอตัวลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกือบขึ้นไประดับสูงสุด แต่เมื่อวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงถือว่าสูงกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ เฟด อยู่ที่ 2% ทำให้ เฟด จำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกสักระยะ

ที่ผ่านมา เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 8 ครั้ง โดยงวดล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 4.5-4.75% หากในเดือนมีนาคม เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5 % อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 5 – 5.25%   ซึ่งเป็นคำถามที่ตามมาว่า การปรับดอกเบี้ยครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด

โดยในมุมมอง นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า การปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ผิดจากที่คาดไว้ เพราะก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของสหรัฐนั้นเริ่มดีขึ้น เงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวลงก่อนหน้า ทำให้คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ระดับ 5.00 -5.25% และจะมีการคงดอกเบี้ยไปจนสิ้นปีนี้  ซึ่งก็จะทำให้สถานการณ์ของสหรัฐเรียกว่า ซอฟท์แลนดิ้ง หรือก็คือการทำให้ควบคุมเงินเฟ้อได้โดยที่ไม่กระทบกับเศรษฐกิจนั่นเอง

แต่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ตัวเลขเศรษฐกิจกลับดูแล้วมีความแข็งแกร่งกว่าที่คาด  ทำให้ตัวเลขประมาณการไว้นั้นมันเป็นไปไม่ได้ ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อที่ลงช้า กับเศรษฐกิจไม่ชะลอตัว เฟด จึงจำเป็นต้องหาทางออกโดยการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเห็นตัวเลขขึ้นไปถึง 5.75% และสิ่งที่ตามมาอาจจะเห็นฮาร์ดแลนดิ้งนั่นเอง

การใช้ยาแรงของ เฟด กับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อไทยโดยตรง แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อม ดังนั้นในระหว่างนี้ไทยจึงได้รับผลกระทบไปด้วย และไทยเองก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นปัจจัยภายนอก แต่ไทยเองก็อาจจะช่วยเสริมได้ด้วยการเพิ่มรายจ่ายเข้ามาในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มองว่ามีหลายนโยบายที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายได้ แต่อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อไทยนั้นก็คือเรื่องการส่งออก และ ภาคการเงิน

นายนณริฏ ยังมีคำเตือนถึงภาคธุรกิจไทย ที่อาจได้รับผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ เฟด  โดยเฉพาะในช่วงที่หลายๆธุรกิจกำลังปรับตัวจากสถานการณ์โควิด และอยู่ช่วงการฟื้นฟูกิจการที่ต้องใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อดอกเบี้ยนโยบายในไทยที่อาจปรับขึ้นตามไปด้วย  และอีกกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงต่างประเทศค่อนข้างเยอะในการพึ่งพาการส่งออก ที่อาจชะลอและธุรกิจที่จะต้องรับเงินสกุลตราต่างประเทศ ซึ่งเหล่านี้ก็ต้องระวังตัวกับผลกระทบที่ตามมาให้ดี

Back to top button