ครม.ไฟเขียวกฟผ. ลุย “โซลาร์ลอยน้ำ” เขื่อนอุบลรัตน์ กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์
ครม. ไฟเขียวโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 24 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2566 หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาแนวทาง และต่อยอดพัฒนาสู่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS)
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดด และช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานน้ำ รวมทั้งเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและภูมิภาคที่สูงขึ้น และยังช่วยลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยที่เป็นการใช้พื้นที่ของ กฟผ. โดยเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวทิพานัน กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 ที่ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสันเขื่อนอุบลรัตน์ ต.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ (10 ไร่/เมกะวัตต์) หรือคิดเป็น 0.32% ของพื้นที่ผิวน้ำ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.ระยะเวลาและแผนการดำเนินโครงการฯ 1 ปี โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2566
2.ข้อมูลด้านเทคนิค อาทิ
2.1 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 24 เมกะวัตต์ และมีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 31.2 เมกะวัตต์พีค โดยติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (c-Si) สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 44.98 ล้านหน่วยต่อปี [อัตราการเดินเครื่อง (Plant Capacity Factor) 18.10%]
2.2 ติดตั้งระบบ BESS ขนาดกำลังจ่ายไฟฟ้าประมาณ 6 เมกะวัตต์ ขนาดพิกัด 3 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงเขื่อนอุบลรัตน์ 115 กิโลโวลต์
2.3 ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ร่วมกับระบบการพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม โดยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันแทนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนำมวลน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่า หรือช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
3.แหล่งเงินทุน คือ รายได้ของ กฟผ. 40% และแหล่งเงินทุนอื่นๆ 60% จากธนาคาร/สถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศและต่างประเทศ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ภายใต้งบประมาณ 863.4 ล้านบาท
นางสาวทิพานัน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) และอีกทั้งนโยบายพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และผลักดันสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเพราะตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทย ลดภาวะพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อให้คนไทยได้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมีเสถียรภาพและมีราคาที่เหมาะสม
อีกทั้งยังสนองนโยบาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญนอกจากจะทำให้ประชาชนใน จ.ขอนแก่น และในภูมิภาคอีสานมีไฟฟ้าใช้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าก็จะได้รับประโยชน์ต่างๆ ด้วย เช่น มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1