ป.ป.ช. แจ้งข้อหา “จักรทิพย์” คดีซื้อรถตรวจการณ์ 900 ล้าน
เลขาธิการป.ป.ช. เผย แจ้งข้อหา “จักรทิพย์” กับพวก รวม 46 ราย คดีซื้อรถตรวจการณ์ 900 ล้านบาท พร้อมเตรียมเรียกมาชี้แจง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ยืนยันถึงกระแสข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวกรวม 46 ราย คดีจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จำนวน 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561-2562 แล้วจริง โดยการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามกฎหมาย กำหนดระยะเวลาภายใน 15 วันภายหลังได้รับแจ้งข้อกล่าวหา และสามารถยื่นหนังสือเข้ามาขอเลื่อนชี้แจงได้ โดยเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะอนุญาตให้เลื่อนชี้แจงหรือไม่
ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนคดีนี้ ในเบื้องต้น มีจำนวน 46 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก
- กลุ่มผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จำนวน 5 ราย
- กลุ่มคณะกรรมการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ จำนวน 7 ราย
- กลุ่มคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานกำหนดราคากลางรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก จำนวน 3 ราย
- กลุ่มบริษัทเอกชน จำนวน 31 ราย
สำหรับ คดีดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 เสนอให้มีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน โดยประเด็นการไต่สวนเรื่องนี้ มีทั้งกรณีการอนุมัติให้ใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 หรือไม่ การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ แพงเกินจริงหรือไม่ และการไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาหรือไม่
ส่วนโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จำนวน 260 คัน วงเงินกว่า 900 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561-2562 ดังกล่าว มีบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด เป็นคู่สัญญา เคยปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนช่วงต้นปี 2563 ว่า เป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 วงเงิน 2.1 พันล้านบาท ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ถูกคนร้ายลอบยิงรถยนต์เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยเชื่อว่าเกิดจากสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และสั่งการให้มีการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 พร้อมกับมีหนังสือถึง ผบ.ตร.ยุคนั้นคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกิดความล่าช้า และส่งงานไม่ทัน พร้อมกับยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ