“จิตตะ เวลธ์” ชี้ “เครดิต สวิส” ล้ม กระทบเศรษฐกิจโลก

จิตตะ เวลธ์ชี้ Credit Suisse เป็นแบงก์ใหญ่ หากปล่อยให้ล้ม ย่อมกระทบเศรษฐกิจโลก เชื่อหากภาครัฐช่วยสร้างความมั่นใจผู้ฝาก จะรักษาเสถียรภาพระบบธนาคารได้ ขณะที่สถานะการเงินยังแกร่ง ฐานทุนอยู่ระดับสูง แนะจับตาแนวทางแก้ปัญหา


นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.จิตตะ เวลธ์) สตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่มีจำนวนกองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารมากที่สุดในประเทศ เปิดเผยว่า การล้มของธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่ง เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก ล่าสุด Credit Suisse ธนาคารชื่อดังระดับโลกจากสวิสถูกนักลงทุนเทขายหุ้น หุ้นร่วงกว่า 24.24% และร่วงกว่า 76.23% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้ถือรายใหญ่ที่สุดอย่าง Saudi National Bank ปฏิเสธการเพิ่มทุน สร้างความกังวลให้นักลงทุนที่เพิ่งตื่นตระหนกกับการล้มคลื่นของธนาคารในสหรัฐฯ

โดยก่อนหน้านี้ Credit Suisse ประสบปัญหาทั้งเหตุการณ์ปล่อยให้บริษัทยาฟอกเงินในบัลแกเรีย พัวพันในคดีทุจริตในโมซัมบิก เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสอดแนมอดีตผู้บริหาร ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ Credit Suisse ยังมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา โดยขาดทุน 7,306 ล้านสวิสฟรัง และ 1,626 ล้านสวิสฟรัง ตามลำดับ และหากพิจารณางบการเงินของธนาคาร จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินฝากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาส  4 ปี 2565 มีจำนวนเงินฝากอยู่ที่ 234,554 ล้านสวิสฟรัง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 393,841 ล้านสวิสฟรัง หรือลดลงกว่า 40% เป็นอีกหนึ่งจุดที่ลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้น หากปล่อยให้ล้มจะส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารใหญ่ระดับโลก มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 530 พันล้านสวิสฟรัง หรือ ประมาณ 19.6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทระดับโลกและกลุ่มผู้มีความมั่งคังสูงที่มีเงินฝากอยู่ใน Credit Suisse เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางธนาคารกลางสวิสฯ ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับนักลงทุนและผู้ฝากเงินแล้วว่า หากมีความจำเป็นธนาคารกลางจะเข้าไปช่วยเหลือ Credit Suisse ทันที

ขณะที่ฟากฝั่งสหรัฐฯ เอง กระทรวงการคลังกำลังตรวจสอบว่าภาคธนาคารสหรัฐฯ มีธุรกรรมกับ Credit Suisse มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นและติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ทั้งนี้หากวัดผลด้วยค่าความเสี่ยงจาก Credit Default Swap (CDS) ปัจจุบันนักลงทุนมองว่า Credit Suisse มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งสถานการณ์คล้ายกับ Morgan Stanley ในปี 2551 แต่ Morgan Stanley ก็สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้ และกลายมาเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นโอกาสในการก้าวพ้นความยากลำบากของ Credit Suisse ยังมีอยู่ แต่จะต้องต้องติดตามต่อไปว่าเหตุการณ์จะพัฒนาไปในลักษณะใด รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของธนาคารเองหรือหน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรด้วย

อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือ Credit Suisse ก็อาจจะไม่ใช้งานที่ง่ายนัก เพราะเป็นธนาคารใหญ่มีสินทรัพย์มาก ดังนั้นจะต้องใช้เงินทุนมากระดับหนึ่งในการเข้าไปช่วยอุ้ม

โดยหากพิจารณาตามอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ Credit Suisse สามารถรักษาอัตราส่วนตามมาตรฐานสถาบันการเงินโลก โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1 ratio) 14.4% (ขั้นต่ำ 4.5%) เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 ratio)  20.3%  (ขั้นต่ำ 6%) และมีอัตราส่วนเงินทุนโดยรวม (Total capital ratio) 20.5% (ขั้นต่ำ 8%) ดังนั้นหากธนาคารกลางเข้ามาให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงิน จะช่วยรักษาเสถียรภาพของธนาคารได้ ซึ่งในระหว่างนี้ Credit Suisse จะต้องปรับโครงสร้างธนาคาร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ ขายแผนกที่ไม่ทำกำไรออกไปเพื่อสร้างรักษาความมั่นคงในระยะยาว

“ปัจจุบันต้องคงต้องติดตามต่อไปว่า Credit Suisse จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างไร และ ธนาคารกลางจะเข้ามาช่วยเหลือในลักษณะไหน รวมไปถึงผู้ฝากเงินจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธนาคารหรือไม่” นายตราวุทธิ์ กล่าว

Back to top button