UBA พุ่งกระฉูด 13% แย้มรายได้ปีนี้เด้ง 15% ตุนแบ็กล็อกแน่น 1.3 พันล้าน

UBA พุ่งกระฉูด 13% แย้มรายได้ปีนี้เด้ง 15% ตุนแบ็กล็อกแน่น 1.3 พันล้าน ทยอยบุ๊กปี 66-68 พร้อมลุยประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 มี.ค.66) ราคาหุ้น บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ UBA ณ เวลา  15:07 น. อยู่ที่ระดับ 1.74 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 12.99% สูงสุดที่ระดับ 1.82 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.53 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12.36 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้นางนภัสวรรณ วัฒนศิริชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี UBA เปิดเผยว่า ในปี 66 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 664.06 ล้านบาท โดยจะมาจากการทยอยรับรู้งานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการประมูลงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เซ็น MOU (สัญญาบันทึกความเข้าใจ) ร่วมกับบริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (PTU) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบงานอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันดำเนินงานในโครงการงานระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ ๆ อีกทั้งได้เซ็น MOU กับบริษัท สยามอีสต์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE ผู้ให้บริการอุปกรณ์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริการ UBA ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ในมือมูลค่ารวม 1,343 ล้านบาท แบ่งเป็นงานระบบบำบัดน้ำเสีย (Wastwater Treatment System) สัดส่วน 70%, งานอุโมงค์ระบายน้ำ (Drainage Tunnel) สัดส่วน 28% และงานระบบประปา (Water Supply System) สัดส่วน 2% ซึ่ง Backlog ดังกล่าวจะทยอยรับรู้ในช่วง 1-3 ปีนี้ (ปี 2566-2568)

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยจากสถิติที่ผ่านมาบริษัทมีโอกาสได้รับงานใหม่ ๆ จากการเข้าประมูลอยู่ที่ระดับ 50% โอกาสทางธุรกิจของ UBA ในการขยายงานอนาคตยังมีอีกมาก จากการเข้าไปให้บริการแก่องค์กรและบริษัทที่ต้องการดำเนินการตามหลักการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

นายวัชรพงษ์ พัฒนพณิชกุล นักลงทุนสัมพันธ์ UBA เปิดเผยว่า สัดส่วนของน้ำเสียที่บำบัดของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 26% ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วอีกมาก โดยค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมีสัดส่วนของน้ำเสียที่บำบัดที่ระดับ 92% ดังนั้น ระบบบำบัดน้ำเสียในบ้านและอาคารในประเทศไทยสามารถขยายตัวได้มากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็ถือเป็นโอกาศที่ UBA จะเข้าไปรับงานในอนาคต

โดยประเทศไทยมีแผนการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 741 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแผนเฉพาะเทศบาล ส่วนราชการ ไม่รวมบริษัทเอกชน โดยภาครัฐมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนโรงบำบัดน้ำเสียในส่วนของกรุงเทพฯ เป็น 23 แห่ง ภายในปี จะขยายเป็น 2 เท่าภายในปี 2578 จากปี 2566 ที่มีจำนวน 12 แห่ง และยังมีแผนขยายอุโมงค์ระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็น 10 แห่ง ภายใน 2569 จากปี 2566 ที่มีอุโมงค์ระบายน้ำ 5 แห่ง

 

Back to top button