กบง.มีมติตรึงราคา LPG เดือน ธ.ค.ที่ระดับเดิม 22.29 บาท/กก.
กบง. มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เดือนธันวาคม 2558 ในระดับเดิมที่ 22.29 บาท/กิโลกรัม (กก.) แม้ต้นทุนก๊าซ LPG จะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 สตางค์/กก. โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระชดเชยเพิ่มเติมเพื่อมิให้เป็นภาระต่อประชาชน รวมทั้งรับทราบแผนการดำเนินงานหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติและผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในปี 2559
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธานในที่ประชุมกบง.เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 55 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ 466 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) โดยใช้ต้นทุนจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ปรับเพิ่มขึ้น 0.7040 บาท/กก.จาก 15.8011 บาท/กก. เป็น 16.5051 บาท/กก.
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชน ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขึ้นอีก 0.7040 บาท/กก. จาก 0.6130 บาท/กก. เป็น 1.3170 บาท/กก.ส่งผลให้ราคาขายปลีกคงที่ 22.29 บาท/กก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี จากการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของ LPG มีรายจ่าย 557 ล้านบาท/เดือน โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของ LPG ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2558 อยู่ที่ 7,937 ล้านบาท
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังรับทราบแผนการดำเนินงานหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติและผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในปี 2559 ตามที่คณะทำงานจัดทำแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า ได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำมาจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบ ดังนี้
ปรับเลื่อนกำหนดการหยุดผลิตของแหล่งก๊าซฝั่งตะวันตกให้เป็นช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง และปรับเลื่อนกำหนดการหยุดผลิตของแหล่ง JDA-A18 จากช่วงเดือนเมษายน 2559 เป็นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า โดยให้กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ บมจ.ปตท.(PTT) หารือแผนการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติร่วมกันเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมมาตรการรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การรณรงค์การลดใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วง Peak และมาตรการ Demand Response เป็นต้น