สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2566


ดัชนีและภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2566

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นที่ได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,237.53 จุด เพิ่มขึ้น 132.28 จุด หรือ +0.41%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.99 จุด เพิ่มขึ้น 22.27 จุด หรือ +0.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,823.96 จุด เพิ่มขึ้น 36.56 จุด หรือ +0.31%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันศุกร์ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารท่ามกลางความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับเสถียรภาพการเงิน หลังจากราคาหุ้นดอยซ์แบงก์ดิ่งลงจากความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 440.11 จุด ลดลง 6.11 จุด หรือ -1.37%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,015.10 จุด ลดลง 124.15 จุด หรือ -1.74%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,957.23 จุด ลดลง 253.16 จุด หรือ -1.66% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,405.45 จุด ลดลง 94.15 จุด หรือ -1.26%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (24 มี.ค.) โดยหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลงต่อ เนื่องจากนักลงทุนเทขายท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการเงินโลก

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,405.45 จุด ลดลง 94.15 จุด หรือ -1.26% แต่ปรับตัวขึ้นเกือบ 1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (24 มี.ค.) เนื่องจากถูกกดดันจากความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับสภาพคล่องของภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว และอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 69.26 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เพิ่มขึ้น 3.5% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 74.99 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 2.8% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากไม่สามารถยืนเหนือระดับสำคัญที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และการแข็งค่าของดอลลาร์ถ่วงราคาทองคำลงด้วย แต่สัญญาทองคำก็ยังคงปิดบวกเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารที่ลุกลามไปยังธนาคารดอยซ์แบงก์ของเยอรมนี

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.10 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,983.80 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 8 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 23.339 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 983.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 18.40 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,414.40  ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (24 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรป ซึ่งส่งผลให้ยูโรและเงินปอนด์ร่วงลงอย่างหนัก

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.58% แตะที่ระดับ 103.1123

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะระดับ 0.9197 ฟรังก์สวิสในวันศุกร์ จาก 0.9156 ฟรังก์สวิสในวันพฤหัสบดี, แข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3741 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3701 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดนที่ระดับ 10.4269 โครนา จากระดับ 10.3146 โครนา แต่ดอลลาร์

สหรัฐอ่อนค่าแตะ 130.76 เยน จากระดับ 131.00 เยน

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงในวันศุกร์แตะ 1.0760 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0845 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี และปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2227 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.2282 ดอลลาร์

Back to top button