พาราสาวะถี
จรดปลายปากกาเซ็นรับรองบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคสืบทอดอำนาจเป็นที่เรียบร้อย สำหรับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.
จรดปลายปากกาเซ็นรับรองบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคสืบทอดอำนาจเป็นที่เรียบร้อย สำหรับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. แน่นอนว่า อันดับหนึ่งต้องเป็นตัวเองในฐานะที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ส่วนอันดับอื่น ๆ มีการปรับกันจากที่มีการประชุมเคาะกันไปก่อนหน้านี้ โดย ไพบูลย์ นิติตะวัน จากเคยถูกวางไว้ในอันดับ 3 หล่นไปอยู่อันดับ 6 มี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เลื่อนขึ้นมาแทน ส่วนอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง อุตตม สาวนายน ก่อนหน้าอยู่อันดับที่ 10 ก็ขยับมาเป็นอันดับที่ 5
เมื่อตรวจสอบรายชื่อ 20 อันดับแรกก็จะพบว่าบรรดาสายตรงของพี่ใหญ่ต่างดาหน้าอยู่ในอันดับกันครบครัน ซีกส่วนที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลก็อยู่ในอันดับที่มีโอกาสจะได้เป็น ส.ส.กันทั้งสิ้น สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังในฐานะเลขาธิการพรรคอยู่ในอันดับ 2 อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยคมนาคมอันดับ 4 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มือเศรษฐกิจของพรรคยังเหนียวแน่นที่อันดับ 7 ส่วนคนของ ธรรมนัส พรหมเผ่า อย่าง บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ อยู่อันดับ 13 โดยมีภรรยาสุดรักของผู้กองมันคือแป้ง ธนพร ศรีวิราช อยู่ในอันดับ 16
ยืนยันจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.แล้วว่า บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ที่ปรากฏนี้ไม่มีอะไรที่จะแก้ไขและแก้ไขไม่ได้อีกแล้ว ก่อนที่จะย้ำสไตล์เดิมเมื่อนักข่าวถามพร้อมจะทำหน้าที่ ส.ส.หรือไม่ว่า “ไม่รู้” อย่างไรก็ตาม กลับไม่ปฏิเสธเมื่อถูกถามถึงความพร้อมที่จะเป็นนายกฯ โดยบอกว่า “หากประชาชนเลือกก็พร้อม” ไม่เก็บอาการกันแบบนี้ ก็เท่ากับเป็นการยืนยันโต๊ะกินข้าวกับภูมิใจไทยที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล นำทีม ณ มูลนิธิป่ารอยต่อฯนั้น คือการจับมือเป็นพันธมิตรขั้วการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างชัดเจน
บนเงื่อนไขที่ว่าพรรคไหนได้ ส.ส.มากกว่าถ้าสามารถระดมเสียงในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล ก็จะให้หัวหน้าพรรคนั้นเป็นนายกฯ เมื่อวัดกันตามขุมกำลังแล้วทั้งสองพรรคก็ถือว่าสูสี พรรคของเสี่ยหนูอาจจะดูได้เปรียบอยู่หน่อย แต่เมื่อมองไปยังความเก๋าเกมของระดับนำที่สู้ศึกในสนามแบบแบ่งเขตแล้วพรรคของพี่ใหญ่ดูมีภาษีกว่า อย่างไรก็ตาม ขั้วการเมืองที่เกิดขึ้นอาจยังไม่มีพลังพอ ให้จับตาดูในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีพรรคขนาดกลางอีก 2-3 พรรคแสดงตัวเป็นแนวร่วมกับสองพรรคดังว่า
ความชัดเจนที่เกิดขึ้นมันก็คือสัญญาณที่ส่งตรงไปถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ โอกาสที่จะได้ไปต่อตามความมุ่งมั่นที่จะอยู่ยาวนั้นลดน้อยถอยไปทุกที เนื่องจากการขยับของบรรดาแกนนำพรรคที่ท่านผู้นำไปถือธงนำนั้น เดินตามแนวทางเอาพรรคไม่เอาพวก มีการเลือกข้าง แสดงตัวตนชัดเจน ซึ่งการเมืองในบริบทที่ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น มันเดินได้ยาก จะอ้างว่ามีกลไกที่วางไว้ตามแผนของขบวนการสืบทอดอำนาจจะมาช่วยสร้างความได้เปรียบให้ มองไปข้างหน้ามันไม่ง่ายเหมือนเลือกตั้งที่ผ่านมา
ยิ่งมีการโยนหินถามทางจาก ทักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยการพร้อมจะกลับมารับโทษเดินเข้าคุกไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ความเป็นไปได้เรื่องแลนด์สไลด์กับการได้ไปต่อแบบยาว ๆ มันยิ่งเด่นชัดมากขึ้นว่าผลจะออกมาแบบไหน ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนกันหากได้เป็นรัฐบาล เกือบ 9 ปีที่ผ่านมานั้น มันมากพอสำหรับประชาชนที่ทนต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว เมื่อสแกนต่อไปยังทีมเศรษฐกิจที่เปิดตัวมา ถามกันทั่วบ้านทั่วเมืองที่ว่าขอ “ทำต่อ” คือต่อยอดความลำบากยากเข็ญของประชาชนให้เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่
แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะตอบรับเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ แต่แนวโน้มน่าจะเซย์โนมากกว่า ประสาคนที่ไม่อยากเกลือกกลั้วกับนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวที่ตัวเองกล่าวหามาตลอดแบบเต็มตัว ขณะที่อีกทางก็มีการลุ้นและหวังกันว่าอยากจะให้ศาลปกครองชี้มาว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.นั้นมีปัญหา เพราะเท่ากับว่าจะทำให้การเลือกตั้งที่เตรียมกันไว้ต้องชะลอออกไปก่อน
นั่นหมายความว่า รัฐบาลรักษาการจะสามารถอยู่ต่อไปได้อีก จนกว่ากระบวนการแบ่งเขตใหม่ของ กกต.จะแล้วเสร็จ คำพูดทีเล่นทีจริงของ วิษณุ เครืองาม ที่บอกว่าอาจรักษาการยาวไปอีก 5 ปี ถึงจะไม่นานขนาดนั้น แต่การที่มีข้ออ้างที่เป็นไปตามกฎหมายว่า กกต.มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตจากคำพิพากษาของศาล ย่อมจะทำให้ระยะเวลาเลือกตั้งทอดยาวออกไป ไม่รู้ว่าจะนานเท่าใด แต่อย่างน้อยการนั่งเก้าอี้นายกฯ รักษาการก็ไม่ถูกนับรวมอยู่ในกรอบ 8 ปีของรัฐธรรมนูญด้วย
จุดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ การยืดเวลาเลือกตั้งออกไปก็เพื่อลดกระแสความได้เปรียบของฝ่ายตรงข้าม และหวังว่าสิ่งที่เป็นผลงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจจะเริ่มส่งผล ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ยังจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ดีกว่าเลือกตั้งตามกำหนดเวลาที่ขีดเส้นไว้ ยังไงก็แพ้แน่นอนอยู่เพียงแค่ว่าจะหมดรูปหรือได้ลุ้นก็เท่านั้น แต่แนวโน้มน่าจะเป็นอย่างแรกเสียมากกว่า แต่ที่พรรคฝ่ายค้านไม่ประมาทคือ ลูกตุกติกของฝ่ายบริหารจัดการเลือกตั้ง
มันมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ตั้งแต่การแบ่งเขต จนไปถึงการมีมติเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กระทั่งการยุบพรรคอนาคตใหม่ แม้แต่การแจกใบส้มให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่เชียงใหม่ จนคดีถูกตัดสินในชั้นอุทธรณ์ที่ให้ กกต.จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องเกือบร้อยล้านบาท อยู่ระหว่างการขยายเวลายื่นฎีกา เหล่านี้มันจึงเป็นเหมือนผลงานที่ทำให้ฝ่ายแข่งขันไม่ไว้วางใจผู้คุมกฎหรือทำหน้าที่กรรมการ
ไม่ว่ากระบวนการจะดำเนินการกันไปอย่างไร มีการวางแผนที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมกันแบบไหน สถานการณ์จนถึงเวลานี้ พรรคการเมืองทั้งหลายยังคงเชื่อมั่นว่าเมื่อมีการเลือกตั้งผลจะเป็นไปตามที่คาดหวัง มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำใจดีสู้เสือ หรือพยายามปลุกเร้าเรียกขวัญให้กับลูกพรรคของตัวเองว่ากระแสดี มีโอกาสที่จะกลับมายิ่งใหญ่ ทั้งที่ความจริงมันตรงข้าม โดยเฉพาะพื้นที่ความหวังทั้ง กทม.และภาคใต้ ไม่น่าเชื่อว่าผลโพลทั้งของพรรคที่ทำมาและสำนักโพลทั้งหลายตรงกัน จำนวนเหลือน้อยอย่างน่าใจหาย