“นายก” ปลื้ม! หนี้ครัวเรือนไทยชะลอตัวลงปีที่สอง

“นายก” แสดงความพอใจ หลังพบว่าหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% ในปี 2566 มุ่งร่วมมือกับทุกภาคส่วนรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน พร้อมส่งเสริมแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน


 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีวันนี้ 30 มี.ค. 66 เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งร่วมมือกับทุกภาคส่วนรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย และยินดีที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยจะลดลงต่อเนื่อง โดยมาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ รวมถึงสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง 2.แนวทางดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของทางการไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการและโครงการต่าง ๆ ทั้งการแก้ไขหนี้เดิมที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการดูแลการก่อหนี้ก้อนใหม่ที่ในปี 2566 ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการดูแลความสามารถในการชำระคืนและไม่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่เริ่มมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง โดยชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% ในปี 2566 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สิ้นปี 2565 ที่ 86.8% และระดับ 90.1% ในปี 2564 ซึ่งการปรับตัวลดลงจะส่งผลกระทบในเชิงบวก โดยแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงอาจทำให้การบริโภคชะลอตัวในระยะสั้น แต่ก็จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ตลอดจนการเติบโตของการบริโภคและเศรษฐกิจในระยะยาว

“นายกฯ มุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วนรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง โดยในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ทยอยปรับตัว หลุดพ้นจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน และสำหรับมาตรการล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม รวมถึงสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อดูแลทุกข์ สุข ของประชาชนทุกคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายอนุชากล่าว

สำหรับในส่วนของ ธปท. เร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่รัฐบาลวางไว้ โดยได้วางแผนการดำเนินการอย่างครบวงจร ถูกหลักการ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ดังนี้ 1.ปรับโครงสร้างหนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง 3.ออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบเพื่อไม่ให้หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต และ 4.มีการต่าง ๆ มากขึ้น ติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ

Back to top button