KTB ควักเงิน1.2 หมื่นล้าน รุกการเงินดิจิทัล จัดตั้ง Virtual Bank
KTB ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจการเงินดิจิทัลแบบครบวงจร อัดงบลงทุนก้อนใหม่ 1.2 หมื่นล้าน จัดตั้ง Virtual Bank กับ ADVANC
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในระยะ 5 ปีหลังจากนี้ (2566-2570) KTB จะขับเคลื่อนภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ 3 ด้าน ได้แก่ 1. Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่และปัจจุบัน 2. Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล 3. Open Competition เส้นแบ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารและ Non-Bank
ทั้งนี้ มี 7 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.ปลดล็อกศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ 2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล 3.เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ได้อย่างครบวงจร 4.สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมตามแนวทาง ESG
5.พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต บริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และทรัพย์รอการขาย (NPA) ให้คุ้มค่าในเวลารวดเร็วขึ้น 6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กรต่อเนื่อง และ 7.ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต
พร้อมกับตั้งเป้าเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีปีนี้ไว้จำนวน 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับสู่การเงินดิจิทัล ในการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank : VB) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ขณะเดียวกันยังเตรียมรุกตลาดสินเชื่อออนไลน์ (ดิจิทัลเลนดิ้ง) บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในปีนี้ เน้นกลุ่มอาชีพอิสระและกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งช่วงเดือนที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่านกรุงไทยเน็กซ์ (NEXT) ได้สูงถึง 5,000 ล้านบาท
ทางด้านของ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) คาดว่า กำไร KTB ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 9,863 ล้านบาท เติบโต 21.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโต 12.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการตั้งสำรองฯ ลดลง และมีรายได้ค่าธรรมเนียม หรือค่าฟีเพิ่มขึ้น แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 23 บาท สอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน แนะนำ “ซื้อ” KTB ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 20 บาท