เปิดพอร์ต ‘เฮียฮ้อ’ เจ้าพ่ออาร์เอส

RS ผนึกกำลัง GRAMMY จัดตั้งกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ “ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE” เพื่อใช้ในการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินทั้งสองค่ายร่วมกัน


เส้นทางนักลงทุน

สำหรับ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส (RS) ชั่วโมงนี้ ไม่ว่าจะหยิบจับหรือลงทุนอะไร ก็ดูจะประสบความสำเร็จไปซะหมด ล่าสุดได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ผนึกกำลังกับบมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) จัดตั้งกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ “ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE” ในการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินทั้งสองค่ายร่วมกัน มีระยะเวลา 3 ปี คาดจะสร้างรายได้จากดีลนี้ 660 ล้านบาท เฉลี่ย ๆ ก็ 220 ล้านบาทต่อปีทีเดียว

นอกจากนี้ การตัดสินใจเข้าไปลงทุนใน บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท (GIFT) ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลครัวเรือน ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ในจำนวน 206.60 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 62.5% ของ “กลุ่มเชษฐโชติศักดิ์”

ซึ่งประกอบด้วย เฮียฮ้อ-สุรชัย, เชษฐ และโชติ นั้น ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ ทำให้ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและจัดพบปะนักลงทุน เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ถึงแผนในการสร้างการเติบโตของ GIFT ยุคใหม่ จึงมีผลให้วอลุ่มเทรด หรือมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของ GIFT ในช่วงวันที่ 8-16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ขยับสูงขึ้นถึง 27 เท่า จากช่วง 7 วันก่อนหน้า

ขณะที่ บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE บริษัทผู้ให้บริการติดตามทวงถามและบริหารหนี้เสีย (AMC) ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งขุมกำลังใหม่ของ “เฮียฮ้อ” แม้ว่ากลุ่ม RS จะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน CHASE แต่หุ้นที่ถืออยู่ก็มิใช่น้อย

โดยตามโครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566 ของ CHASE จะประกอบด้วย ประชา ชัยสุวรรณ (51.30%), บริษัท อาร์เอส ลิฟเวลล์ จำกัด (12.09%), บริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด (8.26%), BNY MELLON NOMINEES LIMITED (5.04%), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (2.52%), อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา (1.01%), อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา (1.01%), โชติ เชษฐโชติศักดิ์ (0.79%), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (0.75%) และนายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ (0.60%)

จากข้อมูลนี้ เฉพาะกลุ่ม RS มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมใน CHASE ราว ๆ 20.35% โดยได้เข้าลงทุนใน CHASE ตั้งแต่ในปี 2564 เพราะเห็นว่าหลังจากเข้าระดมทุนขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแล้ว ยังมีโอกาสทางธุรกิจระหว่าง CHASE และ RS ที่จะร่วมมือกันอีกมาก

รวมทั้งมั่นใจศักยภาพของ CHASE ในฐานะผู้นำการให้บริการบริหารจัดการหนี้สินอย่างครบวงจร ผสานกับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ที่แข็งแกร่งของ RS ที่จะทำให้เกิดการเติบโตร่วมกันในหลายมิติ อาทิ การยกระดับการให้บริการลูกค้า กลยุทธ์การทำตลาด การขยายฐานลูกค้า และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

CHASE ก่อตั้งในปี 2541 โดย ”ประชา ชัยสุวรรณ” มีชื่อเดิมคือ บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ (RWAY) ต่อมาได้ต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หลังจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซี เอฟ เอเชีย (CFAM) ในปี 2555 และจัดตั้งบริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (COURTS) เพื่อดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อให้ลูกหนี้ NPL ที่มีศักยภาพ หรือเพื่อใช้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน

ถัดมาในปี 2564 บริษัท อาร์ อัลไลแอนซ์ บริษัทย่อยของ RS ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 35% ก่อนที่จะโอนให้บริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด และบริษัท อาร์เอส ลิฟเวลล์ จำกัด ในปี 2565 โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 19.5% และ 15.3% ตามลำดับ

จากสัดส่วนที่กลุ่ม RS ถือในปัจจุบัน หากนับจากวันแรกที่ CHASE เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งวันนั้นราคาหุ้นเปิดซื้อขายที่ 3.52 บาท เพิ่มขึ้น 0.62 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาจองซื้อที่ 2.90 บาท เพิ่มขึ้น 21.38% โดยราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 3.58 บาท และย่อตัวลงมาปิดที่ 3 บาท จนถึงล่าสุด หุ้น CHASE ยังยืนอยู่ได้ที่ 3 บาท (ราคาปิด 31 มีนาคม 2566)

พบว่า เมื่อคิดเป็นมูลค่าการลงทุนก็ถือว่ายังคุ้มค่าสำหรับกลุ่ม RS เพราะหากตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่า RS ถือหุ้น ณ ราคา IPO จนถึงวันนี้ก็ยังมีกำไรอยู่

ยิ่งปีนี้ CHASE รุกหนักเดินหน้าลุยซื้อหนี้เสีย (NPL) 1,000 ล้านบาท ซื้อหนี้ไปแล้วกว่า 15% เน้นลงทุนในพอร์ตหนี้ที่สร้างผลกำไรได้ดี และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ขณะที่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา CHASE ยื่นประมูลหนี้กับทางสถาบันการเงินไปแล้ว 5-6 แห่ง ปิดดีลได้แล้วประมาณ 15% และอยู่ระหว่างการยื่นประมูลเพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง ยิ่งมองเห็นอนาคต นอกจากนี้จะมีหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินทยอยออกมาเรื่อย ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ปีนี้ น่าจะทำให้พอร์ตเติบโตได้ดี

โดย ณ สิ้นปี 2565 มีมูลหนี้คงค้างในพอร์ตกว่า 23,800 ล้านบาท มีรายได้ที่ 676.62 ล้านบาท ซึ่งในปี 2566 ตั้งเป้าให้รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งรูปแบบของการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV)

ในส่วนของ GIFT ราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 6.25 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาต้นทุนเฉลี่ยของ “เฮียฮ้อ” ที่ 1.65 บาท แล้วถือว่าคุ้มค่าการลงทุนอย่างมาก ขณะที่ในส่วนของหุ้น RS ที่ถืออยู่ 235 ล้านหุ้น สัดส่วน 24.16% นั้น ขยับตัวขึ้น 2 วันติดต่อกัน รวม 1.32% นับตั้งแต่วันประกาศตัวผนึกกำลังจัดงานคอนเสิร์ตกับค่ายแกรมมี่เป็นการตอบสนองข่าวดีที่จะมีรายได้เพิ่ม แถมยังมีลุ้นอีกด้วยว่าธุรกิจทีวีจะมีรายได้เพิ่มจากการดึงผู้ประกาศข่าวคนดังเข้ามาร่วมทีม

ปีนี้จึงน่าจะเป็นปีที่ดีของ “เฮียฮ้อ” เพราะช่วงนี้ ไม่ว่า “เฮีย” จะหยิบจับอะไร ก็ดูจะประสบความสำเร็จไปซะหมดจริง ๆ ๆ ๆ ๆ

Back to top button