พาราสาวะถี
นับตั้งแต่เปิดตัวเลขเติมเงิน 1 หมื่นบาท เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป พรรคเพื่อไทยก็กลายเป็นตำบลกระสุนตก
นับตั้งแต่เปิดตัวเลขเติมเงิน 1 หมื่นบาท เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป พรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน ก็กลายเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งถูกโจมตีจากพรรคการเมืองคู่แข่ง และบรรดานักร้องขาประจำทั้งหลายพากันไปยื่นให้มีการตรวจสอบ เป้าหมายไม่ได้เหนือความคาดหมายคือ ยุบพรรค ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ฝ่ายตีความและชี้ขาดอย่าง กกต.มีความเข้าใจต่อวิธีการใช้จ่ายเงินตามนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้มากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร แม้วันนี้จะมีหัวโขนทางการเมืองร่วมกับพรรคเสรีรวมไทย แต่ครั้งหนึ่งก็เคยทำหน้าที่ กกต.ย่อมมีความเข้าใจกระบวนการทำงาน และความสามารถของคณะผู้ทำหน้าที่ให้คุณให้โทษนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างหมดไส้หมดพุง ต่อกรณีนี้อดีต กกต.ให้ความเห็นว่าในทางกฎหมายต้องพิจารณา 2 เรื่องคือ เป็นความผิดสัญญาว่าจะให้ตามมาตรา 73 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ ซึ่งหน้าที่การตีความควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ทั้งนี้ เลขาฯ ไม่ควรมีสิทธิ์มาพูดก่อนล่วงหน้า จะผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ กกต.
ที่น่าสนใจมากกว่าคือ ความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องระบุแหล่งที่มาในการใช้งบประมาณ แต่มาตรานี้ไม่ค่อยมีผลในการบังคับใช้ และ กกต.เองมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ อาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จะบอกว่าตัวเลขต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ส่วนบทลงโทษในมาตรานี้ค่อนข้างน้อยคือ การตักเตือน และปรับแค่วันละ 10,000 บาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ขณะนี้มีการส่งข้อมูลเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น
ส่วนของพรรคเพื่อไทยได้มีการยื่นเอกสารบางส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวให้ กกต.แล้ว เป็นหน้าที่ กกต.นำไปวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ มุมของสมชัยมองไม่เชื่อว่า กกต.จะเข้าใจ เพราะแม้แต่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจตรงกัน จึงจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังภาครัฐมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่ง กกต.สามารถหาคนช่วยได้ อาจสอบถามกลับไปยังกระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณ เพื่อขอคำตอบว่าสามารถทำได้หรือไม่
ความจริงเหตุผลที่มีการรุมสหบาทากับนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยและการประกาศจากปากของเศรษฐา เพราะกลัวแพ้ เนื่องจากที่ผ่านมาสิ่งที่พรรคนี้ประกาศถ้ามีอำนาจมักจะทำได้และทำทันที จึงต้องหาทางสกัดทุกช่อง แต่ต้องย้อนกลับไปตรวจสอบนโยบายประชานิยมของแต่ละพรรคเหมือนกันว่าความจริงแล้วเป็นประชานิยมเหมือนที่พรรคเพื่อไทยประกาศไปหรือไม่ และการใช้จ่ายงบประมาณนั้นมากน้อยกว่ากันขนาดไหน ซึ่งตรวจสอบไม่ยาก
เหมือนอย่างที่สมชัยได้ยกตัวอย่าง นโยบายของหลายพรรคการเมืองล้วนใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก หากเปรียบเทียบในเชิงตัวเลข หลายพรรคใช้งบประมาณมากกว่าพรรคเพื่อไทยหลายเท่า เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าจะให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาท 70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท หากจ่าย 4 ปี งบประมาณจะอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท มากกว่าของพรรคเพื่อไทยถึง 4 เท่า
เอาเข้าจริงหากจะต้องตรวจสอบกันให้ละเอียด กลายเป็นว่าทุกพรรคก็ชูจุดขายประชานิยม สุดแท้แต่ว่าจะเรียกกันแบบไหนเท่านั้น ต้องการเอาใจคนทุกกลุ่ม ทุกวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งหวังคะแนนเสียง มันจึงต้องย้อนไปที่ผู้คุมกฎมีความรู้ความเข้าใจ และเข้มงวด เป็นธรรมขนาดไหน มีประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้คือคำพูดของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ที่บอกว่า ถ้าไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวก็สามารถทำได้ เท่ากับว่าทุกพรรคสามารถขายฝันเกี่ยวกับการแจกได้ทั้งสิ้น หากตัดสินพรรคหนึ่งพรรคใดผิด เกรงว่า กกต.ไม่น่าจะหาข้ออ้างมาอธิบายหากจะไม่เอาผิดกับพรรคอื่น ๆ ที่ทำเหมือนกัน ใครจะมาแถเอาสีข้างเข้าถูเพื่ออุ้มชูผู้มีพระคุณได้ตลอดเวลา
ว่ากันว่า ภารกิจในการดูแลเลือกตั้งหนนี้ถือเป็นสิ่งที่สร้างความหนักใจให้กับคนทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นอย่างยิ่ง เพราะทิศทางของเสียงที่จะออกมามันชัดเจนตั้งแต่อยู่ในมุ้ง จะพลิกตำราไหนมาเล่นงานเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับคนอยากอยู่ยาว เหมือนเมื่อคราวเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว ครั้งนั้นมีตัวช่วยหลากหลาย แต่ก็ต้องอาศัยความหน้าทนอย่างหนาจึงทำให้มี ส.ส.ปัดเศษ ส.ส.เอื้ออาทรเกิดขึ้น แต่หนนี้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถ้าไม่โกงกันแบบเลือกตั้งในประเทศด้อยพัฒนาก็ยากที่จะไปรวมเสียงจากผู้แพ้เลือกตั้งมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้
ประกอบกับการเดินเกมของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ว่าด้วยขั้วการเมืองหลังเลือกตั้ง ไปไกลเกินกว่าที่จะหันมาดูแลน้องเล็กอย่างที่เคยทำตัวเป็นท่านขุนแบกเสลี่ยงเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว มีหลายอย่างที่ตลอดเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านไป ซึ่งพี่ใหญ่เคยได้เสนอแนะน้องเล็กให้ทำเพื่อหวังจะให้เกิดผลงานตามอย่างที่นักการเมืองอาชีพเคยทำกันมาแล้ว ก็ได้รับการปฏิเสธ เพราะความเชื่อต่อทีมที่ปรึกษาของตัวเอง มันจึงทำให้การเลือกตั้งหนนี้ พี่ใหญ่มุ่งมั่นที่จะทำให้รัฐบาลใหม่สลัดภาพของรัฐบาลที่ถูกครอบงำจากพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งให้ได้
ว่ากันตามตำราโหราศาสตร์ สงกรานต์ที่คืบคลานเข้ามานางสงกรานต์ปีนี้คือ พระนางกิมิทาเทวี ที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง ซึ่ง ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในฐานะคนที่เชี่ยวชาญเรื่องสงกรานต์อีกรายก็ให้ข้อมูลที่น่าคิดไว้ว่า เมื่อ 12 ปีก่อนพระนางกิมิทาเทวีก็เคยเข้าเวรสงกรานต์มาครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นก็เป็นปีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หรือนี่คือกงเกวียนกำเกวียน ยิ่งลักษณ์ถูกยึดอำนาจ โดยคนที่ยึดอำนาจวางแผนอยู่ยาวจนกว่าจะพอใจ แต่ทำไปทำมาอำนาจที่ยึดมากำลังจะหมดไป คาดว่าน่าจะโดยเครือข่ายของคนที่ตัวเองยึดอำนาจนั่นเอง