“หุ้นเอเชีย” เปิดลบตามดาวโจนส์ ผิดหวังผลประกอบการ “บจ.” สหรัฐ
“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดลบตามดาวโจนส์ ผิดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐ ส่อเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบในวันนี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดอ่อนแรงลงในวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.66) อันเนื่องมาจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทเอกชนยังคงเป็นปัจจัยฉุดตลาด และความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ
ขณะที่นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดก่อนการประชุมนโยบายการเงินในเดือนหน้า
สำหรับดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดที่ระดับ 28,590.55 จุด ลดลง 67.02 จุด หรือ -0.23%, ดัชนีฮั่งเส็งเปิดที่ระดับ 20,330.15 จุด ลดลง 66.82 จุด หรือ -0.32% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,364.00 จุด ลดลง 3.03 จุด หรือ -0.09%
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 245,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย
ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวลงสู่ระดับ -31.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -19.2 จากระดับ -23.2 ในเดือนมี.ค.
ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุด นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ส่งสัญญาณสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และระบุว่าเฟดต้องจับตากรณีธนาคารพาณิชย์คุมเข้มการปล่อยกู้ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเต็มที่ และจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ คริส เซนเยค นักวิเคราะห์จากบริษัท Wolfe Research กล่าวว่า หากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ตลาดการเงินตกอยู่ในภาวะตึงตัวและอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะฉุดตลาดหุ้นร่วงลงอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้เฟดใกล้จะเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.66 ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ค.66 ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบของเฟด